fbpx

9 เหตุผลที่เราไม่ควรโฟกัสที่โรคซึมเศร้า เมื่อมีข่าวคนที่เป็นซึมเศร้าทำผิด

ช่วงปีที่ผ่านมาหมอเองให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องโรคซึมเศร้ามากี่ครั้งคงนับไม่ถ้วน

เพราะกระแสการเป็นโรคนี้มากขึ้นทุกวัน  แต่สิ่งที่คนทำงานด้านสุขภาพจิตเริ่มรู้สึกเป็นห่วงในระยะหลัง คือการนำเสนอข่าวของผู้ที่ไปละเมิดผู้อื่น อย่างกรณีน้องแว่นหัวร้อน หรือล่าสุดคือข่าวลูกชายฆ่าหั่นศพแม่ยัดตู้เย็น(ยังเป็นข้อสงสัยในสังคมอยู่ว่าจริงหรือไม่). ที่ถูกระบุในส่วนของการแนะนำข้อมูลส่วนตัวว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้สังคมตั้งข้อกังขากับโรคนี้กับปัญหาที่เกิดขึ้น จนท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตต้องออกมาให้สัมภาษณ์  และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยออกบทความแสดงความเป็นห่วงการนำเสนอของสื่อ

หมอเองก็อยากเขียนบทความนี้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “เพราะอะไรเราจึงไม่ควรโฟกัสที่โรคซึมเศร้าเมื่อคนที่เป็นโรคนี้ทำผิด”

9 เหตุผลที่เราไม่ควรโฟกัสที่ โรคซึมเศร้า เมื่อมีข่าวคนที่เป็นซึมเศร้าทำผิด

  1. โรคซึมเศร้ามักโยนความผิดเข้าหาตัวเองมากกว่าคนอื่น : ปัญหาหลักทางจิตใจของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็คือความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง. เพราะเมื่อเกิดปัญหามักโทษตัวเอง จนกลายเป็นการสะสมความรู้สึกผิด  การมองตัวเองว่าไม่ผิดก็ยากแล้วการโยนความผิดให้แต่คนอื่นมักไม่ใช่อาการที่ตรงไปตรงมา
  2. โรคซึมเศร้ามักทำร้ายตัวเองมากว่าคนอื่น : เมื่อสะสมความรู้สึกผิดมากขึ้นหรือถูกกระตุ้นให้มองตัวเองไร้ค่า  คนแรกที่เขาจะรู้สึกเกลียดจนอยากจะทำร้ายคือตัวเขาเอง
  3. โรคซึมเศร้ามักไม่ทำมากกว่าลงมือทำ : โรคซึมเศร้ามักเสียพลังกายและพลังใจไปกับความรู้สึกไร้คุณค่าการใช้พลังในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการกิน นอน ทำงาน เข้าสังคมล้วนเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายาม
  4. ความรุนแรงหรือการละเมิดศีลธรรมไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ของโรคซึมเศร้า : ข้อมูลสถิติล่าสุดจากการเปิดเผยของท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตพบว่า ในการก่ออาชญากรรม 100 เคสมีเพียง 10-15 เคสที่มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเกิดจากอาหารหูแว่ว ภาพหลอนรุนแรงว่าคนมาทำร้าย ซึ่งไม่ใช่อาการบ่งชี้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
  5. โรคซึมเศร้ามักไม่ตั้งใจทำให้ใครเดือดร้อนมีแต่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน : การคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าอยู่แล้วทำให้คนเป็นซึมเศร้าไม่กล้ารบกวนคนอื่น  จึงมักแยกตัวอยู่อย่างลำพังแม้ว่าในใจจะโคตรรู้สึกโดเดี่ยว
  6. คนทานยาต้านเศร้าไม่ได้แปลว่าซึมเศร้าเสมอไป : ยาต้านเศร้าใช้ประโยชน์ได้กลายอย่างตามการบริหารยาของแพทย์  ดังนั้นคนทายยาชนิดนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นซึมเศร้าเท่านั้น
  7. เมื่อเข้ารับการรักษาซึมเศร้าแล้วคนซึมเศร้าก็คือคนปกติที่ต้องทานยาและเรียนรู้วิชาภูมิคุมกันทางใจ : คนเป็นซึมเศร้ามีโอกาสหายได้และหยุดยาได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในระหว่างการรักษาก็กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เพียงแค่ต้องทานยาและเรียนรู้การปรับมุมมองชีวิต
  8. เราทุกคนมีอารมณ์เศร้าและมีโอกาสเป็นซึมเศร้าเหมือนกันทุกคน : ไม่มีใครรู้ว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ดังนั้นการทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าและคนเป็นซึมเศร้าอย่างถูกต้องจะทำให้เราไม่ต้องกลัวหากวันนึงความซึมเศร้าเข้ามาอยู่ในตัวเราบ้าง
  9. ทัศนะคติที่ผิดเพี้ยนไปเรื่องโรคซึมเศร้าอาจสร้างตราบาปและทำให้คนที่เป็นพลาดโอกาสที่ดีในชีวิตมีคนอีกมากมายที่กำลังใช้ชีวิตอยู่กับโรคซึมเศร้าและยังคงทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม ดังนั้นคงไม่ยุติธรรมนักถ้าการเสพสื่อจะทำให้คนที่ไม่เข้าใจมองว่า. เพราะเป็นโรคซึมเศร้าจึงทำให้คนอื่นเดือดร้อน

แม้ความเป็นโรคกับความเป็นมนุษย์จะมีความเกี่ยวเนื่องกันแต่ไม่ใช้สิ่งเดียวกัน.

เราทุกคนสามารถป่วยได้โดยคุณค่าของความเป็นมนุษย์ยังคงงดงาม