fbpx

Deep listening ทักษะการฟังเรื่องหนัก ๆ อย่างไรไม่ให้เหนื่อย

 

 

คุณฟังเป็นไหมคะ?

หมอถามคำถามนี้ไม่ได้คิดจะกวนอะไรนะคะ

เพราะก่อนหน้านี้หมอก็เคยคิดว่าตัวเองฟังเป็น

แถมคิดว่าฟังเก่งด้วย

แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ที่ตัวเองก็ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและความสัมพันธ์อยู่เรื่อย

แล้วยังแอบโทษคนอื่นว่าเป็นเพราะพวกเขานั่นแหละที่สื่อสารไม่รู้เรื่อง

 

จนมาเรียนจิตแพทย์

ความคิดว่าตัวเองฟังเป็น  ทั้งที่ฟังไม่เป็นก็ส่งผลเสียต่อการร่ำเรียนมิใช่น้อย

เพราะฟังคนไข้แล้วก็พลอยรู้สึกเครียดและลงท้ายด้วยการแนะนำความคิดที่ตัวเองเห็นว่าดี

จนอาจารย์ออกปากเป็นห่วงว่า  “หมอจะเรียนรอดมั้ย”

เพราะการฟังเป็นเครื่องมือสำคัญของจิตแพทย์ในการช่วยเหลือผู้คน

เช่นเดียวกับที่หมอผ่าตัดมีมีดผ่าตัดเป็นเครื่องมือ

 

อาจารย์ที่เป็นดั่งพ่อผู้ให้กำเนิดทางด้านความคิดและการเรียนรู้ทางด้านจิตใจของหมอคือ

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ณรงค์ สุภัทรพันธ์ุ

ท่านเลยให้ข้อคิดกระตุกใจว่า  เราจะสังเกตว่าเราฟังเป็นหรือไม่

ให้ลองสังเกตผลลัพธ์ของการสนทนาที่เกิดขึ้น เพราะ action = reaction

หมายความว่าเราทำอะไรลงไป  สิ่งนั้นมักเด้งกลับมาเช่นนั้นเสมอ

และบางทีการเด้งกลับนั้นก็เร็วมากจนเราเองอาจไม่ทันรู้ตัว

 

และเมื่อเปรียบเทียบจากการทำงานของสมองก็พบว่าเป็นเช่นนั้น

เพราะเมื่อเราได้ยินหรือมองเห็น  ประสาทสัมผัสจะส่งข้อมูลไปเทียบเคียงกับข้อมูลเก่าที่เราเคยมีมา

แล้วเกิดกระบวนการดึงข้อมูล  วิเคราะห์  ตีความ  ตัดสิน และแสดงออกอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นเมื่อเราฟังใครบางคน  บางครั้งอาจจะยังไม่ทันถึงหนึ่งนาที  เราก็จะมีความคิดของตัวเองผุดขึ้นมาเต็มไปหมด เช่น  ฉันรู้แล้ว ทำไมคิดอย่างนั้น ทำไมไม่ทำแบบนี้  ควรทำแบบนี้มากกว่านะ

และอยากจะสื่อสารออกไป หรือไม่ก็เดินหนีออกจากตรงนั้น เพราะไม่อย่างนั้นจะรู้สึกอึดอัด

และการสนทนาก็จบลงด้วยความรู้สึกติดค้าง

หากเป็นเช่นนั้น  แสดงว่าเราแค่ได้ยินยังไม่ได้ฟัง

 

แล้วการฟังจริงๆคืออะไร

การฟังคือเมื่อเราได้ยินแล้วเราได้มีเวลาใคร่ครวญถึงประสบการณ์ของเรา

และมองเห็นความปรารถนาในการสื่อสารของอีกฝ่ายโดยปราศจากการตัดสิน

ซึ่งความสามารถในการฟังนั้นมี 4 ระดับด้วยกัน

 

เรื่องระดับความสามารถในการฟังถูกนำเสนอให้เข้าใจง่าย  ด้วยการใช้สมการ Theory U โดย

อ็อตโต้  ชาเมอร์ – Otto Scharmer นักคิดชาวเยอรมันซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการ อ็อตโต้  ชาเมอร์  ได้ใช้เวลาทุ่มเทศึกษาในด้านกระบวนการเรียนรู้โดยการสัมภาษณ์นักคิด นักปฏิบัติชั้นนำของโลก

ชาเมอร์ สรุประดับการฟังออกเป็นออกเป็น 4 ระดับคือ

การฟังระดับที่ 1 (Downloading) การฟังแบบน้ำเต็มแก้ว  คือ ฟังเพื่อยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรืออยากได้ยินเท่านั้น และตัดสินสิ่งที่ได้ยินแบบทันทีทันใด

การฟังระดับที่2 (Open mind) ฟังแบบเปิดความคิด  คือ เมื่อได้ยินอะไรที่แตกต่างจากที่คิดไว้จะรู้สึกเอะใจและอยากเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน

การฟังระดับที่3 (Open heart) ฟังแบบเปิดใจ  คือ เมื่อได้ยินแล้วเกิดความเห็นอกเห็นใจคู่สนทนา

แม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

การฟังระดับที่ 4 (Open will) ฟังแบบเปิดปัญญา คือ เมื่อได้ยินแล้วเห็นคำตอบมากมายหลากหลาย  เกิดทางเลือกและองค์ความรู้ใหม่บนความคิดหรือประสบการณ์ที่แตกต่าง

 

มาถึงตรงนี้จึงสรุปได้อย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ อีกทีว่า

การฟังคือการได้ยินอย่างมีสติ

และนี่คือเคล็ดลับสำคัญของการฟังที่จิตแพทย์ต้องใช้ในการบำบัดเยียวยาผู้คน

 

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยถามหมอว่า

“ฟังคนมีปัญหาทุกวันไม่เครียดหรือ  ไม่เหนื่อยหรือ?”

คำตอบคือเมื่อไรฟังเป็นเราจะไม่เหนื่อย  เพราะเมื่อไรที่เราฟังเป็น  

ทุกครั้งที่ได้ฟังจะเป็นการเริ่มต้นของการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

 

5 ทักษะการบริหารจิตใจ  : https://youtu.be/oGo09xMlQf4

ติดตามบทความและผลงานเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness : https://bit.ly/3hI7Nlx