fbpx

อุโมงค์ผาเมือง

อุโมงค์ผาเมือง

ปริศนาของคำโกหก ที่มนุษย์ควรรู้ ก่อนตัวตาย

อุโมงค์ผาเมือง เป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ผลงานการกำกับของผู้กำกับจอมละเมียดอย่าง ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) ซึ่งบทภาพยนตร์เป็นฉบับดัดแปลงครั้งใหม่ของ ราโชมอน (ประตูผี) วรรณกรรมแปลชิ้นเอกของ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

แม้ว่าชื่อของผู้กำกับจะการันตีความน่าสนใจและคุณภาพของภาพยนตร์ได้ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่มาของบทประพันธ์ เนื้อหา ข้อคิดที่ได้ เป็นยิ่งกว่าความน่าสนใจ ยิ่งกว่าคุณภาพ หากเราเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต

ราโชมอน ในแบบฉบับภาพยนตร์เกิดขึ้นครั้งแรกโดยการกำกับของ “อากิระ คุโรซาว่า” (1950) โดยมีต้นกำเนิดมาจากเรื่องสั้นสองเรื่องคือ Rashomon และ In The Glove ของ “ริวโนะสุเกะ อะตุตางสวะ” (1892-1927) ผู้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดานักเขียนเรื่องสั้นของญี่ปุ่น

แม้ว่าการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง ราโชมอน ของผู้กำกับ คุโรซาว่า จะไม่ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น แต่ในระดับนานาชาติภาพยนตร์เรื่องนี้ กลายเป็นความภาคภูมิใจของคนเอเชีย จากการความรางวัลลูกโลกทองคำและอีกหลายรางวัล หลายสถาบัน รวมถึงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศประจำปี 1951 ได้รับการจัดอันดับเป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษ ตลอดจนได้คำนิยามว่า “เป็นหนังที่ผู้ชมภาพยนตร์ควรดูก่อนชีวิตจะหาไม่”

ความโด่งดังของภาพยนตร์ไม่ใช่เหตุผลของการแปลบทประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ท่านเกิดแรงบันดาลใจในการแปล เมื่อครั้งไปชมละครเวทีเรื่อง ราโชมอน ที่นิวยอร์ค โดยท่านสังเกตเห็นว่า ทุกถ้อยคำของบทประพัทธ์นี้ ล้วนมีความหมายต่อการเรียนรู้ชีวิต การแปลจึงไม่ใช่เพื่อความสนุกของท่านเอง แต่ท่านเน้นที่วจีกรรม ภาษาที่แหลมคมและมีความหมายลึกซึ้ง สุดท้าย ราโชมอนฉบับภาษาไทย ก็ถูกนำมาแสดงเป็นละครเวทีครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2508 หน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำแสดงเป็นสัปเหร่อ

การแสดงละครเวทีครั้งนั้นเสมือนเป็นเวทีส่งทอดแรงบันดาลใจมาสู่ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) ที่นั่งชมอยู่ด้วย แม้ว่าตอนนั้นท่านจะยังเด็กมาก แต่ความติดตราตรึงใจก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ปี 2535 เจ้าชายน้อยที่เคยนั่งชมละครเวทีเรื่องนี้อยู่เบื้องล่าง ก็ได้กลายมาเป็นผู้กำกับละครเวทีเรื่องนี้เสียเอง และประสบความสำเร็จจนต้องเพิ่มรอบฉายเป็น 72 รอบ ยาวนานถึง 3 เดือน จนเมื่อ 10 ปีที่แล้วหม่อมน้อยท่านก็มีความคิดที่จะนำ ราโชมอน มาทำเป็นภาพยนตร์โดยใช้ชื่อว่า “อุโมงค์ผาเมือง” การเตรียมการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเริ่มต้นขึ้น

ปีนี้ในวาระ 100 ปีชาตกาล พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ 101 ปีของผู้กำกับ อากิระ อุโรซาว่า จึงเป็นโอกาสอันดี ที่ภาพยนตร์เรื่อง ราโชมอน หรือ อุโมงค์ผาเมืองก็กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

ราโชมอน หรือ อุโมงค์ผาเมือง กลายเป็นบทประพันธ์อมตะ ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะวลีที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” และราโชมอนก็พยายามจะสื่อสารความจริงของมนุษย์ในเรื่องการโกหก โดยผ่านเรื่องราวฆาตกามคดีแห่งโจรป่า นางบาป และขุนศึก 

ปีพุทธศักราช 2110 ณ นครผาเมืองแห่งอาณาจักรเชียงแสนอันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ทั้งอัคคีภัยครั้งใหญ่หลวง แผ่นดินไหวอันรุนแรง และโรคร้ายระบาดคร่าชีวิตประชาชนไปกว่าครึ่งนคร ก็เกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้

“โจรป่าสิงห์คำ” (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรม “ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า” (อนันดา เอเวอริงแฮม) และข่มขืน “แม่หญิงคำแก้ว” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึกในป่านอกเมือง ขณะที่สองสามีภรรยาเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปเยี่ยมญาติที่นครเชียงคำ

จากคำให้การของโจรป่าและแม่หญิง สร้างความปั่นป่วนและพิศวงงงงวยให้แก่ “เจ้าผู้ครองนคร” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก เจ้าหลวงจึงเรียก “ผีมด-ร่างทรง” (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึกเพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง!!!

เป็นไปได้อย่างไรที่เวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน แต่การรับรู้ของแต่ละคนในเหตุการณ์นั้นกลับเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ “พระหนุ่ม” (มาริโอ้ เมาเร่อ), “ชายตัดฟืน” (หม่ำ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ “สัปเหร่อ” (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายในอุโมงค์ผีที่ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น

และ “ความจริง” ทั้งหมดคืออะไรกันแน่???

ตัวละครทั้ง 6 คือ โจรป่า นางบาป ขุนศึก พระหนุ่ม คนตัดฟืน และสัปเหร่อ จึงเป็นตัวละครสำคัญที่เชื่อมโยงกัน แล้วพาผู้ชมไปเรียนรู้ว่า อะไรคือความจริง อะไรคือการโกหก

การไต่สวนคดีในศาล เริ่มต้นจากการให้ปากคำของโจรป่าสิงห์คำ โดยมีพระหนุ่มและคนตัดฟื้นนั่งเป็นพยานอยู่ด้วย ในฐานนะผู้พบเห็นขุนศึกเจ้าฟ้าล่าและแม่หญิงคำแก้ว ก่อนเกิดเหตุการฆาตกรรมและเป็นผู้พบศพขุนศึก

“เรายอมรับว่า เราฆ่าคนๆ นั้น”

คำให้การหนักแน่นของคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นขุนโจรที่โหดร้ายที่สุดในยุคสมัย เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านทุกหัวระแหง โดยเฉพาะพวกที่มีฐานะดี เพราะโจรป่าสิงห์คำมักจะปล้นฆ่าเศรษฐีเพื่อนำเงินทองมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรที่ยากไร้ โจรป่ามีรูปร่างกำยำบึกบึนสมชาย มีเสน่ห์เย้ายวนต่อสตรีเพศ สำหรับเขาแล้ว ที่สุดในชีวิตก็คือ เงินทองทรัพย์สมบัติ เหล้า และผู้หญิง

ในเมื่อภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองเห็นเป็นเช่นนี้ ใครก็ต้องคิดว่าโจรป่าเป็นคนทำ และโจรป่าก็เข้าใจเรื่องนี้ดี ว่าไม่ว่าอย่างไรตนก็ต้องถูกประหาร

โจรป่าให้เหตุผลของการฆ่าขุนศึกว่า เป็นการรักษาศักดิ์ศรีของการเป็นขุนโจร เพราะหลังจากที่เค้าล่อลวงขุนศึกให้เสียที จนถูกจับมัดไว้กับต้นไม้ แล้วทำการข่มขืนแม่หญิงคำแก้ว เพียงเพื่อต้องการปรนเปรอกามตัณหาของตนแล้ว ก็ถูกท้าทายให้ประลองฝีมือเยี่ยงลูกผู้ชาย โดยมีแม่หญิงคำแก้วเป็นเดิมพัน แต่สุดท้ายโจรป่าคือผู้ชนะ และขุนศึกก็จบชีวิตลง

เมื่อสิ้นคำให้การ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของดิฉันคือ ขุนโจรคำสิงเป็นขุนโจรที่โหดร้ายและเก่งกาจ และกล้าหาญในการยอมรับความจริง สมเป็นโจรในอุดมคติโดยแท้

ขุนโจรต้องฆ่าขุนศึกเพื่อป้องกันตัวเอง แล้วคนที่ยังไงก็ต้องถูกประหาร อย่างขุนโจรคำสิ่ง จะมีเหตุผลอะไรที่จะโกหก

ข้าเจ้าฆ่าสามี ของข้างเจ้าเอง

คำให้การของแม่หญิงคำแก้ว – ภาพลักษณ์ของเธอในสายตาของคนทั่วไปคือ ภรรยาผู้เลอโฉมของขุนเจ้าศึกหล้าฟ้า เธอบอบบาง อ่อนโยน และใสซื่อ บริสุทธิ์

เธอให้เหตุผลของการฆ่าขุนศึกผู้เป็นสามีว่า เกิดเพราะการบันดาลโทสะ อันเกิดจากสายตาดูถูกเยียดหยามของสามี หลังจากที่เธอถูกโจรป่าขืนใจ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่เธอไม่สามารถจะปกป้องตนเองได ้และไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น

ขุนศึกเป็นคนที่มีความหมายต่อชีวิตของเธอมาก เพราะความจริง พื้นเพของเธอเป็นเพียงบุตรสาวคนครัวในบ้านของขุนศึกเท่านั้น เธอเฝ้ามองและแอบรักขุนศึกตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่ขุนศึกไม่เคยเหลียวแล จนกระทั้งเมื่อเธอโตเป็นสาวและได้มีโอกาสยกนำไปให้ขุนศึกล้างหน้า นั้นเป็นครั้งแรก ที่ขุนศึกมองเธอและรับเธอมาเป็นภรรยา สำหรับเธอแล้ว ขุนศึกคือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และหากไม่มีขุนศึก เธอก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้

แต่สายตาดูถูกเหยียดหยาม โดยไร้คำพูดในวันนั้น มันทำให้เธอเหมือนตายทั้งเป็น จนสิ้นสติ เผลอทำร้ายสามีตัวเอง หลังเหตุการณ์เธอได้พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ

เมื่อสิ้นคำให้การ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของดิฉันคือ เธอช่างเป็นภรรยาทีซื่อสัตย์ แสนดี และน่าสงสาร น้ำตาบนใบหน้าของเธอก็ทำให้รู้สึกเห็นใจและอยากให้อภัย

แม่หญิงคำแก้วฆ่าขุนศึกเพราะสายตาของชายคนรัก ที่ทำให้เธอเหมือนตายทั้งเป็น คนที่ไม่มีใครคิดว่าเธอจะเป็นฆาตกรอย่างแม่หญิงคำแก้ว จะมีเหตุผลอะไรที่จะโกหก

“ข้าปลิดชีพตัวเอง เยี่ยงนักรบ ผู้ทรนง”

คำให้การของขุนศึกเจ้าล่าฟ้า – ภาพลักษณ์ของขุนศึก ในสายตาของคนทั่วไปคือ ชายหนุ่มรูปงาม ที่เกิดในตระกูลขุนนาง ถูกอบรมเลี้ยงดูมาในแบบคนชั้นสูง มีการศึกษาดี และหยิ่งทะนงในเกียรติภูมิของตนเยี่ยงขุนนางและนักรบ มีชีวิตที่เป็นระเบียบวินัย และมีหลักเกณฑ์

ขุนศึกให้เหตุผลของการปลอดชีพตนเองว่า เกิดจากความเสียใจ เสียเกียรติและศักศรีดิ์ และทุกข์จนไม่มีทางออก เพราะหลังจากที่ขุนโจรคำสิงได้มีความสัมพันธ์กับแม่หญิงคำแก้ว ผู้เป็นภรรยาของตน ต่อหน้าต่อตาแล้ว ทั้งสองก็มีท่าทีสนิทสนมกันอย่างคนที่รู้จักกันมานาน สายตาที่แม่หญิงคำแก้วมองขุนโจร บ่งบอกถึงความรักและหลงใหล ซึ่งตัวขุนศึกเองก็ไม่เคยได้รับสายตาเช่นนั้นจากผู้เป็นภรรยาเลย แม้ว่าตนจะเป็นสามีที่ดีแค่ไหนก็ตาม นี้คงเป็นกรรม และขุนศึกเลือกที่จะชดใช้กรรมนั้น ด้วยการทำร้ายตัวเอง แทนที่จะไปแก้แค้นหรือทำร้ายผู้อื่น และระหว่างใกล้จะสิ้นใจ ก็ได้มีคนย่องเข้ามาดึงดาบเงินที่ปักออกอยู่ออกไป ทำให้กระอักเลือดและสิ้นลมหายใจในที่สุด

เมื่อสิ้นคำให้การ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของดิฉันคือ เห็นใจในความทุกข์ และชื่นชมในความเป็นคนดี มีอุดมการณ์ รักเกียรติและศักดิ์ศรี

ขุนศึกฆ่าตัวตายเพราะต้องการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนและแม่หญิงคำแก้ว ภรรยาผู้เป็นที่รัก แล้วคนที่ตายไปแล้วอย่างขุนศึก มีเป็นผลอะไรที่จะโกหก

การให้การไปคนละทิศคนละทางของทั้งสามคน ได้สร้างความสับสน สงสัย และความไม่แน่ใจในการครองสมณเพศของพระอานนทภิกขุ พระหนุ่มที่ไปเป็นพยานในศาล เพราะเป็นผู้พบเห็นขุนศึกและแม่หญิงคำแก้ว ก่อนจะเกิดเหตุ

“เรื่องมันไม่ง่าย อย่างนั้นหรอกประสก”

คำบอกเล่าของพระหนุ่มอานนทภิกขุที่กล่าวกับคนตัดฟืนและสัปเหร่อในอุโมงค์ผาเมือง – ภาพลักษณ์ของพระหนุ่มในสายคนทั่วไปคือพระผู้เคร่งครัดในธรรมวินัย เทศนาสั่งสอนผู้คนมากมาย จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา และก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมขุนศึก พระหนุ่มก็มองตนเองไม่ต่างจากที่คนอื่นมอง

พระหนุ่มอานนทภิกขุเป็นบุตรชายคนเล็กของเศรษฐีทำกระจก ที่เมืองเชียงคำ ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก จนมีความใฝ่ฝันว่าจะบวชเรียนในพระบวรพุทธศาสนา จนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม้ว่าครอบครัวจะพยายามทัดทานในการบวช หรือขอให้ท่านลาสิกขา แต่ก็ไม่เคยเป็นผล เพราะพระหนุ่มคิดว่า ตนรู้ถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงแล้ว จากการได้ใคร่ครวญการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของคนรอบข้างมาตั้งแต่ยังเด็ก สมควรที่จะครองสมณเพศเพื่อเผยแพร่ความจริงของพระพุทธศาสนาให้ผู้คนต่อไป

แต่หลังจากการได้ฟังคำให้การของขุนโจรคำสิงห์ แม่หญิงคำแก้ว และวิญญาณขุนศึก ท่านกลับคิดจะลาสิกขา เพราะในอุดมคติของท่าน ( Ideal self ) พระภิกษุคือ ผู้รู้ ท่านเคยมองตนเองว่าเป็นผู้รู้ แต่ตอนนี้ท่านพบ ความจริงของตนเอง (Real self ) ว่าท่านไม่รู้อะไรเลย จะเรียกว่าโง่ก็ว่าได้ เพราะถ้ารู้ ก็คงจะตอบได้ว่าเพราะเหตุใดทั้งสาม ถึงให้การไปคนละทิศละทาง และถ้าทั้งหมดคือการโกหก นั้นก็หมายความถึงจิตใจที่เสื่อมถอยของคน แสดงว่าธรรมะที่ท่านเฝ้าสั่งสอนนั้นไม่ได้มีความหมายอะไร

เมื่อจิตใตของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้ง่ายดายอีกต่อไป การรู้สึกเป็นคนโง่ อาจทำให้เจ็บปวด แต่ก็ทำให้เกิดคำถาม

บรรยากาศในอุโมงค์ผาเมืองจึงมีผู้ถามคือพระหนุ่ม ผู้ตอบคือคนตัดฟืน และผู้สรุปคือสัปเหร่อ กระบวนการเรียนรู้เรื่องการโกหกของมนุษย์จากการทำความเข้าในใจคดีฆาตกรรมของขุนศึกจึงเกิดขึ้นจึงเกิดขึ้น

“ไม่จริง โกหกทั้งเพ ”

คำพูดโพล่งของคนตัดฟืน กลางวงสนทนา หลังจากที่คำให้การทั้งสามจบลง และรู้ว่าพระหนุ่มจะลาสิกขา ด้วยความสับสนในเรื่องนี้ – ภาพลักษณ์ของคนตัดฟืนในสายตาคนทั่วไปคือ คนหน้าซื่อที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ยากจนเพราะมีลูกเล็กๆ หลายคน เขาเป็นคนดีขยันหมั่นเพียรที่จะทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว ชายตัดฟืนคนนี้เป็นคนพบศพขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า ทำให้ต้องมาให้การในศาล แต่ตอนนั้นเค้ากลับนั่งเฉย ไม่พูดอะไรเลย ทั้งที่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ตนเป็นเพียงคนโง่ มีหน้าที่แค่ตัดฟืนไปวันวัน เหตุผลดูไม่ค่อยมีน้ำหนักและสัปเหร่อก็อ่านคำพูดและท่าทีเช่นนี้ออก

ความเป็นคนโง่ จน แต่ขยันและซื่อสัตย์ เป็นภาพในอุดมคติ ( Ideal self ) ที่คนตัดฟืนคิดว่าควรตนจะเป็น และยืดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเสมอมา แต่การสนทนากับพระหนุ่มและการรู้เท่าทันของสัปเหร่อ ก็ทำให้คนตัดฟืนต้องยอมรับว่า ตนเองในความเป็นจริง ( Real self ) ไม่ได้เป็นคนที่ซื่อสัตย์ตลอดเวลา

ความจริงแล้วคนตัดฟืนรู้ความจริงของคดีฆ่าตกรรมนี้ทั้งหมด เพราะเขาเป็นคนที่แอบดูเหตุการณ์อยู่หลังพุ่มไม้

เรื่องจริงคือ หลังจากที่ขุนโจรคำสิงห์ขืนใจแม่หญิงคำแก้วต่อหน้าขุนศึก แม่หญิงก็นั่งจัดทรงผมของตน บนโขดหินเยี่ยงนางพญา โดยมีขุนโจรนั่งกราบกราน อ้อนวานขอให้แม่หญิงรับรักและไปอยู่กับตน เพราะ ตั้งแต่เด็กขุนโจรเคยได้พบกับแม่หญิงที่งดงามหมือนแม่หญิงคำแก้ว แต่แม่หญิงคนนั้นไม่เคยสนใจแม้แต่จะมอง เพราะขุนโจรเป็นลูกชาวนายากจน ตั้งแต่นั้น ภาพของแม่หญิงจึงติดอยู่ในใจมาตลอด เมื่อได้พบแม่หญิงคำแก้วมากับขบวนของขุนศึก จึงทำให้นึกอยากได้มาเป็นภรรยาให้ได้ แม้จะต้องเลิกเป็นโจรป่าก็ตาม

เมื่อแม่หญิงได้ฟังดังนั้น ก็หัวเราะเย้ยหยัน “อย่างเจ้าจะมีปัญญาอะไรมาเลี้ยงดูข้า”

คำพูดและท่าทีที่ไม่ยอมอ่อนข้อของแม่หญิง ทำให้ขุนโจรตรงเข้าไปทำท่าจะฆ่าขุนศึก ที่ถูกมัดอยู่กับต้นไม้ “หยุด เจ้าจะฆ่าคนที่ถูกมัดอยู่เนี่ยนะ” สิ้นคำ แม่หญิงก็วิ่งไปแก้มัดให้ขุนศึก ขุนโจรก็วิ่งหนีห่างไปในระยะสายตา ด้วยท่าทีตื่นกลัว

หลังแก้มัด แม่หญิงยุให้ขุนศึกฆ่าโจรป่าเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีให้ตน แต่กลับไม่เป็นดั่งหวัง เมื่อขุนศึกกลับบอกให้นางฆ่าตัวตายเสียเอง แม่หญิงเกิดบันดาลโทสะ จึงได้ยกเรื่องราวตัวตนที่แท้จริงของขุนศึกออกมาประจาร ว่าความจริงขุนศึกก็เป็นแค่คนขี้ขลาดตาขาว ภายใต้เสื้อเกราะที่น่าเกรงขาม จะออกศึกทีก็กลัวจนจับไข้ อวกแตก ต้องปลอบโปลมอยู่นาน

ขุนศึกได้ฟังก็เกิดโทสะเช่นกัน จึงกล่าวประจานตัวตนที่แท้จริงของแม่หญิงบ้างว่า เป็นคนมักมาก คบชู้สู่ชาย ในร่างกายที่ดูใสซื่อบริสุทธิ์

ขุนศึกเลือกกู้ศักศรีของตนโดยการตรงเข้าไปประดาบกับโจรป่า แต่ท่าทีของทั้งสอง เหมือนเด็กเล่นฟันดาบกันมากกว่า ไม่มีกระบวนท่า มีแต่ความประหม่ากลัวว่าตัวเองจะเสียท่า สุดท้ายดาบของขุนศึกเกิดลอยหลุดมือไป ขุนศึกออกวิ่งเพื่อจะไปเก็บดาบโดยมีขุนโจรวิ่งตามมา แต่ขุนศึกเกิดหกล้ม ทับดาบตนเองเสียชีวิต

ขุนโจรเห็นดังนั้นก็ตกใจแล้ววิ่งหนีไป “ข้าไม่ได้ฆ่า ข้าไม่ได้ฆ่า”

หลังจากนั้น คนตัดฟืนก็ย่องเข้าไป ถอดดาบเงินที่ปักคาอกของขุนศึกอยู่ เพื่อนำไปขาย โดยไม่รู้ว่า ขุนศึกยังไม่ตายและการกระทำเช่นนั้น ทำให้ขุนศึกเจ็บปวดและทรมานก่อนจะสิ้นลม

สรุปแล้วไม่มีใครเลยที่พูดความจริง ไม่โกหกตนเอง ก็โกหกคนอื่น หรือนี้คือธรรมชาติของมนุษย์

คำตอบคือใช่ค่ะ การโกหกมีสองแบบคือ โกหกโดยธรรมชาติ คือเกิดจากความไม่รู้หรือจิตนาการในวัยเด็ก กับ โกหกโดย ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ คือเกิดจากการที่เราสร้างมันขึ้นมา ซึ่งอันหลังนี้แหละที่มักทำให้เกิดปัญหา

การโกหกโดยธรรมชาติ เกิดได้กับทุกคน ตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็ก ๆ หลายคนอ่านถึงตอนนี้อาจนึกค้านในใจ แต่ลองนั่งนิ่งๆ แล้วระลึกถึงตัวเองในตอนช่วง 3 – 6 ปี ดูนะค่ะ ช่วงต้นอาจรู้สึกว่าภาพความจำมันเลือนลาง เพราะพอเข้า 3 ขวบเราจะพึ่งจำความได้ ช่วงนี้เราพูดได้ แต่สิ่งที่พูดอาจถูกบ้างผิดบ้าง ก็เกิดจากความไม่รู้เดียงสา ต่อมาจะจำได้ว่าเคยเล่นสมมุติว่าตัวเองเป็นนู่นเป็นนี่ ทั้งกับสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต บรรยากาศการพูดเกทับกันในระหว่างกลุ่มเพื่อนว่าพ่อข้าใหญ่กว่า แม่ข้าดีกว่า การที่เด็กพูดไม่ตรงกับความจริงหรือโกหกในช่วงนี้ก็เกิดจากการจิตนาการแบบเด็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติค่ะ

แต่ถ้าเด็กพ้นหกขวบมาแล้วก็ยังโกหก การโกหกนั้นอาจมีนัยซ่อนอยู่เช่น

  • โกหกเพื่อปกป้องตัวเอง เช่นรู้ว่าถ้าบอกว่าตัวเองทำผิดแล้วจะถูกพ่อแม่ตี
  • ลอกเรียนแบบผู้ใหญ่
  • เรียกร้องความสนใจหรือคำชม
  • ใช้การโกหกแทนการแสดงออกถึงความโกรธและความก้าวร้าว

ถ้าพ่อแม่รู้สาเหตุแล้วแก้ไขอย่างถูกต้อง พฤติกรรมการโกหกของเด็กก็จะหายไป แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกมองข้ามไป การโกหกก็จะกลายเป็นความเคยชิน จนกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ นำไปสู่การโกหกในแบบที่สองคือ การโกหกในแบบที่เราสร้างขึ้นมา

การโกหกแบบนี้ เรามักได้ยินได้ฟังกันอยู่ทุกวัน ทั้งจากคนอื่น และจากตัวเอง ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว การโกหกแบบนี้อาจสร้างความสุขได้ชั่วคราว แต่ทุกข์ระยะยาว

พฤติกรรมและคำพูดของทุกตัวละครในอุโมงค์ผาเมือง สะท้อนภาพการโกหก ทั้งกับคนอื่นและกับตัวเองได้อย่างชัดเจน ถ้าเราเปิดใจมอง เราก็จะเห็นว่า ทุกคนล้วนปิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น

“คนเราก็ดีบ้าง ชั่วบ้าง มันไม่สำคัญอะไรนักหรอก”

คำกล่าวของสัปเหร่อ ผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่ในสังคมกับผู้คนมากมาย ทั้งร้ายและดี สุดท้ายมาอาศัยอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง ร่วมกับซากศพ รูปร่างภาพนอกก็อัปลักษณ์ ท่าทางกขระ ไม่เหลือความสวยงามหรือภาพลักษณ์ใดใดให้ยึดติด แต่ชายแก่อัปลักษณ์คนนี้ กลับกลายเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุด ที่สำคัญ สัปเหร่อเป็นคนเดียวที่ไม่พูดโกหก “ข้าเลิกโกหกตัวเองมานานแล้ว”

ดิฉันเกิดคำถามในใจว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้สัปเหร่อมีความแตกต่างจากตัวละครตัวอื่น ๆ หรืออาจจะรวมถึงดิฉัน และผู้ที่นั่งชมภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่

เท่าที่มองเห็นคือ

  • การไม่มีภาพลักษณ์ใดๆ ให้ต้องรักษา
  • การมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเองตามความเป็นจริง
  • การยอมรับตัวตนนั้นได้
  • การรู้จักพอ
  • การอยู่ได้โดยไม่ต้องเรียกร้องจากคนอื่น วัตถุอื่น

ในขณะที่

  • ขุนโจรคำสิงห์ – ความจริงคือคนที่มีปมในใจ เรื่องความยากจน ต่ำต้อย จนขาดความมั่นใจ แต่สิ่งที่อยากเป็นคือขุนโจรผู้น่าเกรงขาม
  • แม่หญิงคำแก้ว – ความจริงคือคนทะเยอทะยาน ใฝ่สูง แต่สิ่งที่อยากเป็นคือ แม่หญิงผู้จงรักภักดีกับสามี ใสซื่อ บริสุทธิ์
  • ขุนศึกเจ้าล่าฟ้า – ความจริงคือคนขี้ขลาด ตาขาว แต่สิ่งที่อยากเป็นคือขุนศึกผู้กล้าหาญ ชาญชัย
  • พระหนุ่มอานนทภิกขุ – ความจริงคือคนที่ยังไม่รู้ ในเรื่องธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ แต่สิ่งที่อยากเป็นคือผู้รู้แจ้ง
  • คนตัดฟืน – ความจริงคือคนที่ไม่ได้ซื่อสัตย์อยู่ตลอดเวลา

แต่สิ่งที่อยากเป็นคือคนซื่อสัตย์ รวมถึงตัวเราเองทุกคนล้วนแล้วแต่มีความจริงที่ตัวเราเป็น ( real self ) และสิ่งที่เราอยากจะเป็น ( ideal self )

แต่ยิ่งความจริงที่เราเป็น กับสิ่งที่เราอยากเป็นอยู่ห่างกันมากเท่าไหร่ ความทุกข์จากความรู้สึกขาด ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ี และการโกหกดูเหมือนก็เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ที่จะเติมเต็มความขาดนี้

เพราะมันสามารถปกปิดสิ่งที่เราไม่อยากรู้และไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ได้อย่างแนบเนียน เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพชีวิตที่สมบูรณ์แบบ โดยลืมไปว่าคำว่าสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง ความสุขที่ได้จากการโกหกจึงเป็นความสุขเพียงชั่วคราว แต่การมองเห็นและยอมรับตนเองตามความเป็นจริง เช่นสปเหร่อต่างหากที่จะทำให้ เรามีความสุขที่แท้จริงได้ จากความรู้สึก เต็มจากภายในใจเราเอง

แทนการพูดเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน มองเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็น

ถึงตอนนี้แล้ว ดิฉันอยากชวนทุกคนมาลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า สิ่งที่เราเป็นคืออะไร ? สิ่งที่เราอยากเป็นคืออะไร? แล้วเปลี่ยนมาเติมเต็มระยะห่างระหว่างของทั้งสองสิ่งนี้ ด้วยคำว่า “สติ” บางทีชีวิตที่เหลืออยู่จากนี้ เราทุกคนอาจจะมีความสุขจากตัวเราเองได้มากขึ้น

เรามาลองไปพร้อม ๆกันนะคะ

ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้ร่วมสนทนาถึงคดีนี้กับพระหนุ่มและสัปเหร่อในอุโมงค์ผาเมืองด้วย

ท่านเป็นผู้พบขุนศึกผู้ตายและภรรยาก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมอันน่าสะเทือนใจ และเป็นเหตุให้ท่านต้องย้อนกลับมามองและเรียนรู้ถึงชีวิตมนุษย์และตัวเองใหม่อีกครั้ง

จนทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณ ทำให้การตัดสินใจหลายๆ ครั้งในชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับความถูกต้องในสังคมมากกว่าความเป็นมนุษย์

สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) – เป็นสัปเหร่อแก่ที่อาศัยอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน มีความคุ้นเคยทั้งคนเป็นและคนตาย จึงมีความเข้าใจวิถีทางชีวิตของมนุษย์ได้อย่างดีในทุกแง่มุม เขามักจะมองโลกและใช้ชีวิตอย่างเป็นกลาง จึงทำให้เขาสามารถวิเคราะห์นิสัยมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ