fbpx

ข้อแตกต่างของความซึมเศร้าระหว่างสูงวัยกับวัยเยาว์

ในบ้านของคุณมีคนอายุมากกว่า 60 ไหมคะ ที่บ้านของเอิ้นมี ข้างบ้านของเอิ้นก็มี ที่โรงพยาบาลมีหนึ่งวันที่จัดเป็นคลินิกผู้สูงอายุ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Age Society) ตั้งแต่ปี 2548 คือมีผู้สูงอายุร้อยละ 10 ของประชากร ปี 2560 เรามีผู้สูงอายุร้อยละ 16.7 ของประชากร และปี 2564 เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ (Complete Aged Society) คือผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

ดังนั้นปัญหาของผู้สูงอายุจึงไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่กำลังจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งระดับสังคม เศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นพวกเราในวัยก่อนผู้สูงอายุ ควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุในบ้านของเรา และเตรียมตัวเองที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

เรามาเริ่มต้นทำความเข้าใจปัญหาสำคัญระดับต้นๆ ของทุกเพศทุกวัยกันเลยดีกว่า นั่นคือเรื่องโรคซึมเศร้า จากบทความก่อนๆ เอิ้นได้เล่าถึงโรคซึมเศร้าไปแล้ว บทความนี้จะขอลงรายละเอียดความต่างของความซึมเศร้าในแบบผู้สูงอายุให้เราได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติม

  1. สาเหตุ : ในผู้สูงอายุความเสื่อมของสมอง โรคประจำตัวโดยเฉพาะ เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง และความถดถอยของสภาพร่างกาย คือสาเหตุหลักของความซึมเศร้า (ในขณะที่วัยหนุ่มสาว อาจมีสาเหตุมาจากความเครียดในการทำงาน ความสัมพันธ์ หรือการใช้ชีวิต)
  2. อาการ : ในผู้สูงอายุมักมีอาการของสมองที่เริ่มอ่อนแอร่วมด้วย เช่น น้อยใจง่าย/โกรธง่าย/ขี้บ่นขึ้นมาก คุยกับคนต่างวัยไม่รู้เรื่อง ลืมว่าลุกไปทำอะไร คิดคำพูด/บทสนทนาไม่ออก ทำงานหลายอย่างพร้อมกันไม่ได้จากที่เคยทำได้ นอนหลับได้สั้นและตื่นมาไม่สดชื่น นอกเหนือจากอาการของโรคซึมเศร้า (ในขณะที่วัยหนุ่มสาวจะมีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้เป็นหลัก)
  3. การรักษา : ในผู้สูงอายุ เน้นรักษาตามอาการ เช่น มีปัญหาการนอน ได้ยาช่วยนอน มีปัญหาหงุดหงิด ได้ยาช่วยลดความหงุดหงิดร่วมกับยาต้านเศร้า และวิตามินชะลอความเสื่อมของสมอง และกิจกรรมในการฝึกสมองและฟื้นฟูสมอง (ในขณะที่วัยหนุ่มสาวเน้นเรื่องการได้ยาต้านเศร้า และทำจิตบำบัดเพื่อให้เข้าใจตัวเองและปัญหา)
  4. การป้องกัน : ไม่ว่าวัยไหนก็เหมือนกันคือการดูแลสมองของเราให้มั่นคงแข็งแรง เพราะสมองคือแหล่งในการผลิตและควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของเรา ดังนั้นเราควรใช้สมองทุกส่วนให้สมดุลและมีกิจวัตรที่จะทำให้สมองของเราห่างไกลจากความเสื่อม เช่น
    1. แบ่งการใช้ชีวิตกลางวันออกจากกลางคืน
    2. แบ่งวันธรรมดากับวันหยุด
    3. ยังใช้ปากกาหรือดินสอในการเขียนและจดบันทึก
    4. มีการทำงานทั้งแบบดิจิทัลและแอนาล็อก
    5. อ่านหนังสือมากกว่าการดูวิดีโอคลิปหรือทีวี
    6. แยกชีวิตส่วนตัวออกจากงาน
    เรามีกี่ข้อคะที่ทำได้ในปัจจุบัน ถ้าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ใหญ่ในวันนี้คือผู้สูงอายุในวันหน้า งั้นเรามาเตรียมเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่าและความสุขตั้งแต่วันนี้กันเถอะ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

AUTHOR : หมอเอิ้น พิยะดา จิตแพทย์ นักแต่งเพลง ผู้บริหารโรงแรมเลยพาวิลเลี่ยนและเเพลินคอฟฟี่โรสเตอร์ เธอทำทุกงานด้วยความตั้งใจและหัวใจเสมอ เพราะเอิ้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างความสุข

Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/