ชีวิตเราเศร้าแค่ไหน ตอนที่ 2
ถ้าเราสำรวจตัวเองดีๆ เราจะพบว่าชีวิตมีความเศร้าซ่อนอยู่เสมอ มากน้อยแตกต่างกันแต่ไม่ใช่ว่าคนที่เศร้าทุกคนจะเป็นโรคซึมเศร้า ยกตัวอย่างอีกกรณี หญิงสาวอายุ 30 ปีมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท มาพบแพทย์ด้วยรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ 2 เดือน สองเดือนก่อนเธอทะเลาะกับสามีเรื่องการเงิน หลังจากนั้นแม้ว่าปัญหาจะคลีคลายแต่อารมณ์ยังคงซึมเศร้าอยู่เกือบตลอดเวลา
รู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง มีความคิดว่าตัวเองไร้ค่าและเป็นสาเหตุของปัญหา คิดว่าสามีมองตัวเองในแง่ร้ายและไม่มีความหวังในชีวิต
ทำให้มีความคิดฆ่าตัวตายเป็นช่วงๆ สิ่งที่เปลี่ยนไปในชีวิตคือ จากที่เคยสนุกสนานร่าเริงเข้าสังคม กลับแยกตัวชอบอยู่คนเดียว
จากที่ทำงานได้ดีกลับขาดสมาธิและทำงานบกพร่องบ่อยครั้ง จากทานได้นอนหลับดีกลับไม่อยากอาหารนอนหลับยากตื่นเร็ว จากที่มีรอยยิ้มให้สามีและคนรอบข้างทุกเช้า กลับมีแต่ความเศร้าและน้ำตา เธอรู้ว่าเธอเศร้ามากเกินไปไม่สมเหตุสมผลแต่ไม่สามารถควบคุมได้
กรณีนี้เธอเป็นโรคซึมเศร้า
โรคไม่ใช่ว่าจะเป็นง่ายๆแต่เมื่อเป็นแล้วนั้นบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง มีความจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษา
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองหรือคนข้างๆเป็นโรคซึมเศร้า?
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ รู้สึกว่าอารมณ์ตัวเองเปลี่ยนไปต่อเนื่องยาวนานเกือบตลอดเวลา มักเป็นอารมณ์เศร้า ท้อแท้ จนส่งผลเสียต่อการงานและชีวิตประจำวัน สำหรับแพทย์จะเกณฑ์การวินิจฉัยคือ มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า
- มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
- ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
(ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ) (ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ)
เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ ทั้งนี้อาการจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วยนะค่ะ มีตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลางจนถึงรุนแรงมีอาการประสาทหลอนหูแว่วได้ นอกจากนี้เราต้องระวังโรคหรือสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น การใช้ยารักษาความดันบางชนิด การปรับตัวผิดปกติ
โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล เป็นต้น
ครั้งหน้าเรามาเรียนรู้เรื่องการดูรักษากันนะคะ