fbpx

อย่าให้ Burn out เอาชีวิตเราไป

 

          ก่อนหน้านี้หมอเคยเขียนเรื่องความแตกต่างระหว่างภาวะ Burn Out กับซึมเศร้าไปแล้ว หลังจากนั้นก็มีหลายคนเข้ามาขอคำปรึกษาเพราะเริ่มจะรู้ตัวว่า ภาวะ Burn Out กำลังค่อยๆกลืนกินอารมณ์และความคิดจนถึงจุดที่รู้สึกกลัวว่าตัวเองจะป่วยหรือกำลังจะป่วย มองในอีกมุมก็ถือว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่เราได้กลับมารู้จักสังเกตตัวเองอย่างแท้จริง และอยากจะดูแลตัวเองเบื้องต้นก่อนที่คำว่าโรคซึมเศร้าจะเข้ามาแทนที่

ครั้งนี้จึงขอแนะนำจุดสังเกตของภาวะ Burn Out และการดูแลตัวเองเบื้องต้น สังเกตุโดยลองตอบคำถามเหล่านี้ดูนะคะ

  • ลืมตาตื่นมาตอนเช้า คุณเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากลุกจากที่นอนเพราะไม่อยากจะออกไปทำงานรึเปล่า?
  • เวลาทำงาน คุณเริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างช่างน่าหงุดหงิดหรือเบื่อหน่ายไปหมดรึเปล่า  ทั้งที่ผู้คนและงานก็เหมือนเดิม?
  • คุณเริ่มจะหลีกเลี่ยงอะไรบางอย่างในงานอย่างที่ไม่เคยเป็นรึเปล่า?
  • คุณมีความคิดว่าถ้าเอางานออกไปจากชีวิต คุณจะเป็นคนที่มีความสุขขึ้นในทันทีรึเปล่า? แต่ปัญหาคือยังมีความจำเป็นต้องทนทำงานนั้น
  • คุณเริ่มรู้สึกว่าร่างกายคุณอ่อนแอลง แต่ยังต้องฝืนต่อไปเพื่อทำงานรึเปล่า?
  • คุณเริ่มนับถอยหลังให้ถึงเวลาเลิกงานเร็วๆอยู่รึเปล่า? ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีความสนุกกับงาน
  • คุณเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ได้ทำให้คุณใช้ศักยภาพที่ตัวเองมี จนเริ่มรู้สึกว่าคุณค่าของตัวคุณลดลงรึเปล่า?
  • แค่คิดถึงเรื่องงาน ไม่ว่าคุณจะกำลังอยู่กับใครเวลาไหน  คุณก็พร้อมที่จะเครียดได้ตลอดเวลารึเปล่า?

ถ้าตอบว่าใช่ในทุกข้อ  ก็บอกได้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ Burn out แล้วเราควรดูแลตัวเองอย่างไร?  คนที่กำลังอยู่ในภาวะนี้ส่วนมากจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนหนูที่วิ่งอยู่ในกรงล้อยิ่งเหนื่อยยิ่งวิ่ง  หยุดวิ่งก็ไม่ได้เพราะกลัวชีวิตจะยิ่งแย่  แต่หารู้ไม่ว่าถ้าไม่หยุดวิ่งชีวิตจะยิ่งแย่ ดังนั้นสิ่งที่คนรู้ตัวว่าตัวเองกำลัง  Burn out ควรทำคือ

  1. หยุด : เพื่อทบทวบอย่างตั้งใจว่า สาเหตุของการ Burn out คืออะไรกันแน่ เพราะภาวะนี้ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด สิ่งที่เราคิดว่าเป็นสาเหตุอาจจะไม่ใช่รากของสาเหตุที่แท้จริง เช่น เรารู้สึกว่างานล้นเกินกว่าจะทำไหว เลยทำให้ Burn out แต่ความจริงถ้าเป็นงานที่ถนัดและชอบต่อให้เยอะแค่ไหนก็ไม่รู้สึกแบบนี้ รากคือฝืนทนทำงานที่เราไม่ถนัดไม่ใช่ปริมาณงาน เป็นต้น การเข้าใจรากของปัญหาจะทำให้เราเห็นหนทางแก้ปัญหา
  2. Remindset : นึกถึงวันแรกที่เราเข้ามาทำงาน เราเข้ามาทำงานนี้เพราะอะไร? คำตอบเราอาจหลากหลาย เช่น เพราะจำเป็น (จำเป็นอย่างไร?), เพราะเงินดี (ตอนนี้ดีอยู่ไหม?), เพราะเอาใจพ่อแม่ (พ่อแม่เคยชื่นชมไหม?), เพราะเป็นงานที่ชอบ (ยังชอบอยู่ไหม?), เพราะสังคมการทำงานดี (ยังดีอยู่ไหม?) เป็นต้น การกลับมาที่จุดเริ่มต้นว่า เพราะอะไรเราถึงทำงานนี้ จะทำให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำอีกครั้ง ถ้าคำตอบคือทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ก็ลองปรับทัศนคติต่องานที่ทำใหม่ ให้เราทำงานอย่างมีความสุขได้ในปัจจุบัน
  3. ผ่อนคลาย : เราอาจจะต้องรับรู้ว่า ในภาวะเครียดนั้นไม่ว่าเรารับรู้อะไรก็จะง่ายต่อการตีความเป็นด้านลบไปหมดการอยู่ในภาวะ Burn out ถือเป็นภาวะยากลำบากของชีวิต เราอาจจะมาถึงจุดที่ต้องคิดหรือตัดสินใจครั้งสำคัญ ดังนั้น
  • เราควรสร้างการผ่อนคลายให้ร่างกายและจิตใจโดยเร็วที่สุด เพื่อการตัดสินใจหรือใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป การผ่อนคลายที่ทำได้ทันทีคือ
  • การออกกำลังกาย (การเสียเหงื่อจะทำให้สารแห่งความสุขที่สมองหลั่ง)
  • นอนให้เพียงพอ (เพื่อให้สมองไม่อ่อนล้า)
  • ออกเดินทางท่องเที่ยวหรือไปในที่ที่เราสบายใจหรือมีความผูกพัน (เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและเห็นความหลากหลาย)
  • ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำสมัยเด็ก ๆ อีกครั้ง (เพื่อสัมผัสพลังความสดใสเหมือนเป็นเด็กอีกครั้ง)  เป็นต้น
  1. หลีกเลี่ยงการรับสิ่งที่เป็นมลพิษทางความคิดเข้ามาในชีวิต : เช่น ไม่เสพข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่อยู่ใกล้คนที่กล่าวโทษทุกอย่างในชีวิตยกเว้นตัวเอง เป็นต้น
  2. เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้แต่อาจใช้ประโยชน์กับงานได้ : เช่น เราเคยทำงานเป็นผู้ปฏิบัติงานมาตลอด วันนึงได้เลื่อนเป็นหัวหน้าทีมอาจต้องหาโอกาสไปเรียนรู้เรื่องการเป็นผู้นำ หรือเราทำงานเป็นผู้ประสานงานมาหลายปี ถ้าเรามีทักษะการพูดกับลูกค้าหรือการพรีเซนต์งานอาจทำให้เราได้ขยับทำงานขายซึ่งได้ค่าตอบแทนมากขึ้น เป็นต้น
  3. สื่อสาร : การเล่าสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจกับคนที่พร้อมจะรับฟัง หรือหากไม่รู้จะคุยกับใครการเขียนถึงสิ่งที่เราไม่สบายใจจะช่วยให้เราได้เรียบเรียงความคิดและระบายความรู้สึกได้ดีขึ้น
  4. หาโอกาสเป็นผู้ให้ : ออกไปทำกิจกรรมที่เรารู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ความรู้สึกถึงการเป็นผู้ให้อาจช่วยให้ความมั่นใจในคุณค่าของตัวเองกลับมาง่ายขึ้น

 

เราห้ามภาวะ Burn out ไม่ให้เกิดกับชีวิตเราไม่ได้ แต่เราไม่ยอมให้ภาวะ Burn out เอาชีวิตเราไปได้ ด้วยการมองมันเป็นสัญญาณของการกลับมาเรียนรู้และดูแลตัวเอง มองว่ามันเป็นแค่สภาวะที่ผ่านมาแล้วสักวันจะผ่านไป มองว่าภาวะนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคุณค่าในตัวเรา แล้วการจะเปลี่ยนงานหรือไม่ ก็เป็นแค่ทางเลือกของชีวิตไม่ได้แปลว่ายอมแพ้ ขอเป็นกำลังใจให้คนที่กำลัง Burn out ทุกคนเพราะคนเขียนก็เพิ่งผ่านมาเช่นกัน

 

—————————————————————————-

เพลงยังอยากรู้ (Original version) | https://youtu.be/TGEeeCbkfgo

—————————————————————————-

Page : หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness | https://www.facebook.com/earnpiyada/

—————————————-

Youtube : หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness | https://bit.ly/2PYErjj

—————————————-

IG : earnpiyada | https://www.instagram.com/earnpiyada/