fbpx

เศร้าแค่ไหนเรียกว่าโรคซึมเศร้า

ความเศร้า เป็นอารมณ์ที่มีอยู่และเกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคน และความเศร้ามักมีหัวใจมาจากความสูญเสีย เสียความสัมพันธ์ เสียงาน เสียเงิน เสียความหวัง เสียคุณค่า เป็นต้น ซึ่งความสูญเสียนั้นมีทั้งเกิดขึ้นจริงและอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการตีความของเราเอง

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพิ่งเปิดเผยข้อมูลในสัปดาห์สุขภาพจิต ปี 2560 (1-7 พฤศจิกายน 2560) นี้ว่า มีคนไทยถึง 1.5 ล้านคน ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมากขึ้นถึง 400,000 คน เมื่อเทียบกับปี 2557 คำถามคือ เพราะอะไรคนถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น หรือแค่เพราะช่องทางการสื่อสารง่ายขึ้น และคนกล้าจะยอมรับอารมณ์ของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

งั้นเรามาลองเช็กตัวเองดูนะคะว่าความเศร้าของเราเป็นปกติไหม หรือถึงเวลาที่ควรไปพบจิตแพทย์กันแล้ว

เศร้าปกติกับเป็นโรคซึมเศร้าต่างกันอย่างไร สิ่งที่เราต้องพิจารณาเมื่อเกิดคำถามนี้คือ เราเศร้าตั้งแต่เมื่อไร เศร้าแค่ไหน เศร้าเพราะอะไร

ความเศร้าโดยปกติ: เราจะรู้ว่าอะไรที่ทำให้เราเศร้า ถ้าเรื่องนี้ดีขึ้นอารมณ์เราจะดีขึ้น ความเศร้ามาๆ ไปๆตามปัจจัยที่กระตุ้น เศร้ามากเศร้าน้อยแล้วแต่การกระตุ้น ที่สำคัญไม่ได้เป็นตลอดเวลา เมื่อไรมีสิ่งที่เบี่ยงเบนจากปัญหา เช่น เพื่อนชวนออกไปช้อปปิ้งก็จะหาย

ความเศร้าแบบโรคซึมเศร้า: เราจะรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในหลุมดำตลอดเวลา ไร้แรงกายแรงใจ แม้ว่าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเลย หรือถ้ามีปัญหาที่มากระตุ้น ต่อให้ปัญหานั้นหายไปแล้ว แต่ความซึมเศร้าก็ไม่เบาบาง และเริ่มส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวัน การงาน และความสัมพันธ์

เวลาของความเศร้าสำคัญไหม สำคัญมาก คนเราแม้จะเสียใจสักแค่ไหน ประมาณ 2 อาทิตย์เราจะเริ่มปรับตัวได้ และถึงแม้ว่าปัญหาจะเรื้อรังยาวนาน เราก็จะเริ่มรู้ว่าควรอยู่กับมันอย่างไร แม้ว่าจะไม่ได้มีความสุขกลับมา 100% คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ แม้ว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย แต่ความเศร้าก็ยังอยู่ยาวนานต่อเนื่อง อย่างน้อยประมาณ 2 อาทิตย์ขึ้นไป และไม่มีทีท่าจะดีขึ้น

โรคซึมเศร้ามีอาการอะไรร่วมได้บ้าง นอกจากอาการเบื่อหน่าย ซึมเศร้าเกือบตลอดเวลา 2 อาทิตย์ขึ้นไปแล้ว อาการที่มักเป็นร่วม เช่น เบื่ออาหารหรือทานมากกว่าปกติ นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ การเคลื่อนไหวเชื่องช้าหรือกระวนกระวายกว่าปกติ มีความคิดว่าตัวเองไร้ค่า และมองโลกในแง่ลบกว่าปกติ สมาธิลดลง อาจมีความคิดฆ่าตัวตายได้

หากมีความซึมเศร้าเข้าข่ายเป็นโรค หมายความว่าคนคนนั้นต้องเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้นหรือ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะยังมีโรคที่สามารถมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้าได้ เช่น การปรับตัวกับความเครียด (Adjustment Disorder) ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากยาและสารเสพติด โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล โรคจิตเภทชนิดมีปัญหาอารมณ์ร่วม ภาวะสูญเสียคนรักหรือคู่ชีวิต

เมื่อรู้ว่าป่วยใครช่วยได้บ้าง อันดับแรกคือ ตัวเราต้องเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และความช่วยเหลือจากผู้อื่น ต่อมาคือจิตแพทย์ที่จะช่วยประเมิน วินิจฉัย และวางแผนการรักษาให้เราอย่างเหมาะสม


AUTHOR : หมอเอิ้น พิยะดา จิตแพทย์ นักแต่งเพลง ผู้บริหารโรงแรมเลยพาวิลเลี่ยนและเเพลินคอฟฟี่โรสเตอร์ เธอทำทุกงานด้วยความตั้งใจและหัวใจเสมอ เพราะเอิ้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างความสุข

Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/