7 องค์ประกอบของคนล้มแล้วลุกได้
“ภูมิคุ้มกันทางใจ ในวัยเยาว์ที่พ่อแม่อย่างเราสร้างได้”
“สงสารเด็กยุคนี้!” คำพูดติดปากของผู้ใหญ่หลายคนที่หมอได้ยินบ่อยมากขึ้น เมื่อต้องให้คำปรึกษาคุณครูบ้างคุณพ่อคุณแม่บ้าง ตั้งแต่เจ้า Covid-19 เข้ามาในชีวิตของทุกคน
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูเองก็ต้องปรับตัวกับความเครียดเช่นกันแต่การผ่านร้อนผ่านหนาวมามากก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจมากพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ แต่เด็ก ๆ ที่ถูกขโมยเวลาชีวิตในการเจอโลกกว้างจริง ๆ ที่ไม่ใช่โลกทิพย์ในโซเชียล แล้วเด็ก ๆ จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจเพื่อให้รับมือกับปัญหาได้อย่างไร ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง การล้มแล้วลุกได้ หรือ Resilience skill จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ยุคใหม่ ควรฝึกให้ลูกตั้งแต่สนามหน้าบ้านก่อนที่จะถึงเวลาเจอปัญหาในสนามจริงของชีวิต
“หมอพูดเล่นรึป่าวเรื่องสนามหน้าบ้าน”
“ไม่ได้พูดเล่นค่ะ” สนามหน้าบ้านที่ปลอดภัยจากไวรัส สามารถสร้างเป็นพื้นที่จำลองเพื่อให้ลูกได้สัมผัส
ประสบการณ์ที่ต้องเจอปัญหาและแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ยกตัวอย่าง เช่น การเล่นกีฬา โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่นร่วมกันเป็นทีม เพราะการเล่นลักษณะนี้ โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นพี่เลี้ยงจะช่วยให้เด็กได้ฝึกองค์ประกอบทั้ง 7 ของการเป็นคนที่มี Resilience หรือที่รู้จักกันในชื่อ 7C’s Model แนวทางของพ่อแม่ในการฝึกลูกให้ล้มแล้วลุกได้ หลักการนี้เขียนขึ้นโดย Dr.Kenneth Ginsburg กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Resilience ในเด็ก
- Competence คือ ความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ได้ดีและมีประสิทธิภาพ จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถนี้เมื่อเค้ามองเห็นทางเลือกในการแก้ปัญหา และเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง เช่น เมื่อเล่นฟุตบอลแล้วได้รับลูกมา อยู่ในจุดที่จะต้องตัดสินใจเองว่าจะยิงหรือไม่ยิงประตู ถ้ายิงจะต้องใช้ท่าไหน มุมไหน
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– ให้โอกาสเค้าได้เจอปัญหา ไม่พยายามปกป้องลูกจากความผิดพลาดโดยการตะโกนบอกวิธี หรือพยายามกำกับ ซึ่งตรงจุดนี้การปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสเจอปัญหา พ่อแม่บางคนอาจมีคำถามว่า “แล้วจะเลือกปัญหาที่จะยอมให้ลูกเรียนรู้ความผิดพลาดได้ยังไง?” คำตอบ คือ หากปัญหานั้นลูกตัดสินใจแล้วเกิดความความผิดพลาด แล้วความผิดพลาดนั้นไม่ได้ส่งผลให้ลูกหรือคนอื่นต้องรับอันตรายในชีวิตหรือไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น เช่น ตัดสินใจตั้งใจจะทำให้คู่แข่งบาดเจ็บเพื่อชัยชนะของตัวเอง พ่อแม่ก็สามารถปล่อยให้ลูกๆ ลองผิดลองถูกได้
– ให้กำลังใจและเชื่อใจ
– ลดการสอนแบบบรรยายแล้วเปลี่ยนเป็นคำถาม เมื่อเกิดความผิดพลาด เพื่อให้เขาเรียนรู้
- Confidence คือ ความมั่นใจในตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองไม่ได้เกิดจากคำชม แต่เกิดจากการมีประสบการณ์ตรงว่าเขาได้ใช้ความสามารถในการทำบางอย่างได้สำเร็จ และได้รับการยืนยันจากพ่อแม่ว่า “เขาทำได้”
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– ไม่โฟกัสที่ความสำเร็จแต่โฟกัสที่กระบวนการที่ทำ เช่น ลูกนั้นที่ลูกยิงเข้าประตู พ่อชอบลีลาการเลี้ยงบอล และรู้จักรอจังหวะการยิงของลูกมากเลย แทนที่จะพูดว่า “ดีมาก เก่งมาก”
– ชื่นชมในลักษณะนิสัยของเด็กที่ทำให้เกิดความสามารถนี้ เช่น ความอดทน ความมีวินัย ความมีน้ำใจ นักกีฬา
- Connection คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกและคนอื่น ทั้งกับคนในครอบครัวและนอกครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ เมื่อลูกมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างของความเห็นใจ โดยการอนุญาตให้ลูกมีอารมณ์ได้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นบวกหรือลบก็ตาม แล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ลูกเสียใจที่แข่งกีฬาแพ้ ลูกร้องไห้ โดยไม่ต้องพยายามกดความเสียใจเอาไว้
– หากลูกแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ต้องเชื่อมโยงให้ลูกเห็นว่าพฤติกรรมนั้นส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์อย่างไร แล้วลูกจะปรับอย่างไรได้บ้าง
- Character คือ บุคลิกและอุปนิสัย ทุกครอบครัวมีแนวคิดของตัวเองว่าอะไรคืออุปนิสัยที่ดี นอกจากนี้ลูกควรรู้ผิดถูก ความเหมาะสมไม่เหมาะสม เพื่อไม่ไปสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นและสังคม
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– คุยถึงพฤติกรรมของเขาทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เช่น ในเกมการเล่นฟุตบอล เรามองเห็นการตั้งใจเอาขาขัดเพื่อนให้ล้ม แต่ก็เข้าไปประคอง เพื่อนแล้วขอโทษ “การตั้งใจขัดขาเพื่อนนั้นไม่ถูก แต่เมื่อรู้ว่าผิดแล้วเข้าไปช่วยเหลือและขอโทษนั้นเป็นสิ่งที่ดี”
– ให้เขามีส่วนร่วมในความผิดถูก ด้วยการตั้งคำถาม เช่น การตั้งใจขัดขาเพื่อนให้ล้มในเกม ลูกคิดยังไงกับการกระทำนี้ของตัวเอง
– ข้อนี้สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง เพราะการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
- Contribution คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกได้รู้สึกว่าสังคมและโลกใบนี้ จะน่าอยู่อย่างไรเมื่อมีเขา ความสามารถความคิดสร้างสรรค์ของลูกมีประโยชน์อย่างไรต่อผู้อื่น สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าในการกระทำ กล้าตัดสินใจกล้ารับผิดชอบและกล้าร้องขอความช่วยเหลือ
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– คุยถึงคุณค่าของการให้และความไม่เท่าเทียม (เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม)
– หาโอกาสให้ลูกได้เป็นผู้ให้ด้วยใจอาสา เช่น เอาของเล่นที่ไม่เล่นแล้วไปให้เด็กยากไร้ หรือให้เขาได้สอนหรือถ่ายทอดความสามารถของเค้าให้คนที่สนใจเรียนรู้ได้ไปใช้ประโยชน์
- Coping คือ การรับมือกับปัญหา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นสิ่งที่ตามมาคือลูกอาจเกิดความเครียดได้ แต่เมื่อเครียดแล้วลูกจะใช้วิธีการอะไรที่ดีให้มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– ช่วยให้ลูกแยกแยะระหว่างความเครียดที่เป็นจริง เช่น เล่นกีฬาแล้วเกิดการบาดเจ็บทำให้เจ็บปวดกับความเครียดจากความคิด เช่น โกรธคนที่ทำให้บาดเจ็บและต้องการเอาคืนให้ได้
– ฝึกคิดขั้นตอนของการแก้ปัญหา เช่น ตั้งคำถาม “ถ้าหนูถูกทีมตรงข้ามแกล้งในเกมการแข่งขันหนูจะทำยังไง?” เพื่อให้ลูกลองฝึกคิดแก้ปัญหา
– ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายง่าย ๆ เช่น การหายใจ การยืดร่างกาย
- Control คือ การที่ลูกรู้สึกดีที่เห็นตัวเองรับมือกับปัญหาและควบคุมตัวเองได้ ลูกจะไม่มีทางรู้สึกแบบนี้ถ้าการตัดสินใจทุกอย่างเป็นของพ่อแม่ โดยที่เขาไม่มีส่วนร่วม
สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ
– ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และทำความเข้าใจในผลลัพธ์
– รู้สึกดีกับความสำเร็จเล็ก ๆ ได้ ไม่ต้องวางเป้าหมายยิ่งใหญ่เสมอ
– เมื่อลูกรับมือกับปัญหาได้ดี อาจให้รางวัลเป็นการให้เขามีอิสระในการคิดและตัดสินใจมากขึ้น
7 องค์ประกอบของทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) ซึ่งคุณสมบัตินี้ของคนแต่ละคนมีไม่เท่ากันและนี่คือคำตอบของคำถามที่ว่านี้
“ทำไมคนเรารองรับความเครียดได้ไม่เท่ากัน”
“ทำไมบางคนล้มแล้วลุกได้ในเวลาอันรวดเร็ว”
“ทำไมบางคนเจอปัญหาแค่ครั้งเดียวก็ไม่อาจลุกขึ้นมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
เพราะทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) แท้จริง คือ คุณสมบัติของจิตใจที่เข้มแข็งที่เราทุกคนต้องฝึกฝน ไม่ต่างกับการที่ต้องออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) จึงเป็นกระบวนการทำให้จิตใจที่เจ็บปวดกลับมาสู่ความสุขและความสมดุลได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้มีความเคารพในตัวเอง พอใจกับชีวิตที่เป็นแม้ไม่สมบูรณ์แบบ ใช้ความสามารถที่มีอยู่ในตัวเองได้อย่างเต็มที่ และมีการตัดสินใจที่แม่นยำเมื่อต้องจัดการปัญหา
ดังนั้นโอกาสในการจะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลก็จะน้อยลง บางคนโชคดีที่เกิดมาแล้วอาจมีคุณสมบัตินี้โดยพ่อแม่ไม่ต้องสร้าง แต่ถ้าวันนี้พ่อแม่หันมาช่วยกันสร้าง Resilience ให้กับลูก ทักษะล้มแล้วลุกได้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันทางใจที่ล้ำค่า ที่ควรค่ากับการมอบไว้ให้กับลูกที่เรารักและโลกใบนี้