fbpx

“นอกถ้ำน่ากลัวกว่าในถ้ำ” กับแนวคิดเยียวยา “ทีมหมูป่า” แบบคนธรรมดา

เหตุการณ์ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนที่จังหวัดเชียงราย ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เด็กๆ และโค้ชติดอยู่ในถ้ำกระทั่งช่วยเหลือทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัยเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยและชาวโลกให้ความสนใจ คอยติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงอย่างคนทั่วไป หมอเอิ้น-พิยะดาหรือแพทย์หญิงพิยะดา หาชัยภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลจิตเวช จังหวัดเลย และเจ้าของเพจเฟชบุ๊กดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดานับเป็นหนึ่งในนั้น

แต่ในบทบาทจิตแพทย์ หมอเอิ้นกำลังรู้สึกเป็นห่วงสภาพแวดล้อมนอกถ้ำที่ทั้ง 13 ชีวิตต้องเผชิญหลังจากนี้อาจทำให้รู้สึกได้ว่า “นอกถ้ำน่ากลัวกว่าในถ้ำ”

แม้จากการแถลงปิดศูนย์ถ้ำหลวงเมื่อวานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจะกล่าวถึงการมองทั้ง 13 ชีวิตว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นเด็กน้อย ที่ปฏิบัติไปตามวิสัยของเด็ก แต่กลับเกิดเหตุสุดวิสัย โดยตัวผู้ว่าเองเชื่อว่าเด็กๆจะเติบโตและได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้

แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสยกย่องให้พวกเขาเป็นฮีโร่ เป็นพระเอก ไปพร้อมกับกระแสขัดแย้งว่าพวกเขาคือผู้กระทำความผิด ซึ่งกระแสที่ย้อนแย้งกันเช่นนี้หมอเอิ้นมองว่าถ้าเด็กๆ ไม่เข้าใจอาจทำให้เขากลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพผิดปกติได้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีจุดเปราะบางสำหรับเด็กๆ อยู่แล้วนั่นคือความรู้สึกผิด เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีการสูญเสียเกิดขึ้น การมองพวกเขาเป็นฮีโร่ทั้งๆ ที่พวกเขารู้สึกผิด เหมือนเป็นการโยนสิ่งที่ไม่ใช่ให้กับพวกเขา มันจะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกผิดมากขึ้น และเป็นความขัดแย้งภายในตัวเอง สุดท้ายสิ่งนี้จะกลายเป็นปมที่น่ากลัวซึ่งส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนที่มีบุคลิกผิดปกติได้”

หรือหากทำความเข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือกรอบความถูกต้องที่กำหนดไว้คือคนทำผิดต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ แต่เมื่อพวกเขาได้รับการเยินยอ ยกย่อง จึงกลายเป็นว่ากรอบความถูกต้องนั้นถูกพังทลายลง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้กลายเป็นคนหลงระเริง หลงในอำนาจหรืออิทธิพลผิดๆ แต่สำหรับทั้ง 13 คนนี้หมอเอิ้นประเมินจากสิ่งที่เห็นแล้วคิดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบนี้

“ไม่ต้องมองพวกเขาเป็นฮีโร่ แต่ให้มองพวกเขาเป็นคนธรรมดา” มุมมองนี้หมายความว่าคนธรรมดาที่สามารถทำผิดได้ และเมื่อทำผิดสิ่งที่พวกเขาเผชิญตลอดระยะเวลาที่ติดอยู่ในถ้ำก็ถือเป็นการรับผิดชอบต่อความผิดของตัวเองไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่สังคมจะมอบให้เขาได้คือการให้อภัย และเด็กๆ ก็ต้องให้อภัยตัวเองด้วยเช่นกัน

หากทุกคนปรารถนาจะเป็นผู้เยียวยาก็ต้องคิดว่าทุกสิ่งที่จะกระทำต้องทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกถดถอยเหมือนกับว่าตัวเองยังติดอยู่ในถ้ำเหมือนเดิม