fbpx

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อถึงฤดูกาลแห่งความเศร้า

มีคนถามหมอว่า “สภาพแวดล้อมที่ดูเงียบเหงา อากาศเย็นๆ ท้องฟ้ามืดครึ้มเป็นเวลานานอย่างช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ มีผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้มั้ย” เพราะเขาสังเกตเพื่อนที่ต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบเหงาแบบนั้นแล้วดูเศร้าซึมไป

คำตอบคือ ได้ค่ะ แต่ไม่ใช่สาเหตุ 100% สภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศ ภูมิอากาศนั้นสำคัญกับเราทุกคนอยู่แล้ว เคยสังเกตตัวเองไหมว่า ช่วงเวลาโพล้เพล้โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ยิ่งถ้านั่งอยู่เงียบๆ คนเดียว แม้ว่าพื้นอารมณ์เดิมของเราจะร่าเริงขนาดไหน เมื่อต้องอยู่ในบรรยากาศนั้นคนเดียวก็คงปฏิเสธความเศร้าซึมไม่ได้ หรืออีกช่วงหนึ่งคือเวลาเช้าตรู่ของฤดูหนาว บรรยากาศก็ชวนให้เราไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นจากเตียง

สภาวะอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรมแบบนี้ มองดีๆ จะคล้ายกับคนที่มีภาวะของโรคซึมเศร้า ซึ่งจะมีอาการหมดพลังกายพลังใจไม่อยากทำอะไร ไม่อยากทานอาหาร นอนไม่หลับ พอตอนเช้าก็ไม่อยากจะลุกไปทำอะไร

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาพอากาศที่อึมครึม บรรยากาศที่เงียบเหงาและเยือกเย็นนั้นไปมีผลกระทบกับสมองของเราใน 3 ด้านคือ 1. กระทบนาฬิกาชีวิตของเรา (Circadian Rhythm) 2. ลดการหลั่งสาร Serotonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทของความสุขในสมอง 3. รบกวนสารสื่อประสาทที่พาเราเข้านอนอย่าง (Melatonin) มีลาโตนิน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ สภาพแวดล้อมจะมามีผลทำให้เราเกิดสภาวะซึมเศร้าได้ แต่!! ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นโรคซึมเศร้า

แล้วเมื่อไรเราถึงจะเป็นโรคซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (Seasonal Depression) ก็เมื่อเรามีภาวะซึมเศร้ายาวนานติดต่อกันเกือบทุกวันในช่วงฤดูกาลนั้น เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน อารมณ์ใจคอก็เปลี่ยน และเป็นแบบนี้ทุกปี ติดต่อกัน 2 ปีขึ้นไป

ความโชคดีคือ เมื่อเราเริ่มสังเกตตัวเองได้ว่า บรรยากาศและฤดูกาลเริ่มมีผลต่อความความซึมเศร้าของเราโดยไม่ได้มาจากความเครียด เราก็สามารถจะช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ดังนี้

เพิ่มพลังงานให้ความคิดและจิตใจ เช่น รู้ทันความคิดลบแล้วนึงถึงความคิดบวกที่เป็นไปได้มาทดแทน ทบทวนสิ่งดีๆเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หัวเราะ และนึกถึงความทรงจำที่ดี (ควรทำในสถานที่และเวลาที่เหมาะสมนะคะ) ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เช่น แช่น้ำอุ่น ออกกำลังกาย เปิดเพลงเต้น ร้องคาราโอเกะเพลงที่สนุกสนาน หรือดื่มน้ำขิง อาบแสงอาทิตย์นอกอาคารในช่วงเช้าประมาณ 30 นาที ใช้พลังงานของสีที่สดใสเข้ามาช่วย เช่น ใส่เสื้อสีแดง บริโภคผลไม้หรืออาหารสีแดง เป็นต้น เมื่อเราเริ่มดูแลอารมณ์เศร้าของตัวเองในช่วงฤดูของความเศร้าแล้ว ยังเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ ความเศร้านั้นยังคงเป็นอยู่มิรู้หาย ก็แสดงว่าถึงเวลามาพบจิตแพทย์แล้วจ้า

ป.ล. อยากบอกว่าพวกเรามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล (Seasonal Depression) น้อยมากๆ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเรามี 3 ฤดูใน 1 วัน อากาศเย็นยังไม่ทันทำให้เศร้าอากาศร้อนก็เข้ามาเผาใจเสียแล้ว


Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/