โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นโรคในการดูแลของจิตแพทย์อีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่โรคจิต และอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน เพราะเกิดได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือผู้ใหญ่ตอนต้น
แพนิค เป็นโรคในกลุ่มวิตกกังวลที่สาเหตุเกิดมาจากการที่สมองส่วนของระบบประสาทอัตโนมัติเกิดการตื่นตัวกว่าปกติ จนส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัตินั้นแปรปรวน อย่างเช่น ระบบการเต้นของหัวใจ การหายใจ การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่จุดเริ่มต้นของการพบจิตแพทย์ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้คือ การไปพบแพทย์มามากมายหลายที่ แต่หาสาเหตุของโรคไม่ได้ จนแพทย์ทางกายต้องแนะนำให้เปลี่ยนเส้นทางการรักษามาพบจิตแพทย์ ซึ่งหลายคนกว่าจะถึงในจุดนี้ก็ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการที่เกิดขึ้นมานาน การดำเนินโรคเริ่มมากขึ้น เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการค้นหาความผิดปกติเรื่องนี้ไปมิใช่น้อย
จึงเป็นคำถามที่หมอมักจะได้รับจากคนไข้ที่มารักษาด้วยอาการแพนิคเกือบทุกรายว่า ในเมื่ออาการแพนิคแสดงออกเป็นอาการทางกายแล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่านี่คืออาการที่ควรมาพบจิตแพทย์
เป็นคำถามที่ดีและอยากบอกว่า “ถูกต้องแล้วที่ควรไปพบแพทย์ทางการก่อน” เพราะความรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติหายใจไม่อิ่ม หากสาเหตุมาจากแพนิคนั้นไม่มีวันตาย แต่หากเกิดจากอาการของโรคหัวใจจริง เราอาจเสียชีวิตได้
จึงยืนยันว่า อันดับแรกควรไปหาคุณหมอทางกายก่อนค่ะ เพื่อตรวจดูในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจ ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมายที่จะทำให้เรารู้ความผิดปกติเรื่องหัวใจได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น หากแพทย์ทางกายยืนยันแล้วว่าร่างกายปกติ จากที่เราเคยเสียเวลาไปหาโรคทางกายให้ได้โดยการไปช้อปปิ้งหาหมอที่ต่างๆ ไปเรื่อย ลองเปลี่ยนมาหาข้อมูลและทำความเข้าใจในเรื่องแพนิคดูก่อน ามันเข้ากับเราไหม
แพนิค เป็นกลุ่มอาการทางกายที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติของสมองทำงานผิดปกติ เกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็ว,หายเองเร็วประมาณ 10 นาที และมี 4 ใน 10 อาการเหล่านี้
ในด้านร่างกายอาจรู้สึกว่า:
ใจสั่น ใจเต้นแรง หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อแตก หายใจไม่อิ่มหรือหายใจขัด ตัวสั่น รู้สึกอึดอัดหรือแน่นอยู่ข้างใน เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก คลื่นไส้ ทองไส้ปั่นป่วน มึนงง ปวดหัว วิงเวียน หรือเป็นลม ด้านความคิด
รู้สึกตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป รู้สึกว่าตัวเองจะตาย กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้หรือเป็นบ้า อาการทั้งทางด้านร่างกายและความคิดนี้มีการเกิดขึ้นซ้ำอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 เดือน
ส่งผลให้ผู้ป่วยกลัวอย่างมากว่าจะมีอาการแพนิคเกิดขึ้น จนมีความคิดกังวลกับเรื่องนี้ตลอดเวลา กังวลว่าอาการเหล่านี้จะมีอะไรที่ร้ายแรงหรือรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปชัดเจน เช่น ไม่ยอมออกไปทำงานเพราะกลัวว่าจะเครียดแล้วมีอาการ เคยมีความสุขกับการออกไปสังสรรค์พบเจอเพื่อนก็ไม่ไปเพราะกลัวไปมีอาการ
ถ้าเริ่มมีอาการที่เข้าเค้าโครงตามนี้ก็ควรรีบเปลี่ยนทิศมาพบจิตแพทย์ เพราะมีวิธีการรักษาที่จะทำให้เรามีอาการที่ดีขึ้นได้เร็วรองรับอยู่ ตั้งแต่
- การรักษาทางยาเพื่อปรับสมดุลสารสื่อประสาท (มีทั้งยาหลักเพื่อการรักษาต่อเนื่อง และยาฉุกเฉินตามอาการ)
- การทำจิตบำบัดเพื่อให้เราเข้าใจความกลัวและความหมายของการตื่นตระหนก
- Psychoeducation (ให้ความรู้เรื่องโรค) ผู้ป่วยเข้าใจแพนิคในแบบของตัวเอง สืบค้นตัวกระตุ้นภายในของตัวเอง และวางแผนในการรับมือ
- Continuous panic monitoring เรียนรู้และบันทึกรูปแบบการเกิดความคิดกังวลและแพนิคของตัวเองในแต่ละวัน
- Breathing retraning (ฝึกการหายใจ) เพื่อบรรเทาความกังวล
- Cognitive restructuring ฝึกการรับรู้ความคิดอัตโนมัติที่เป็นลบเกี่ยวกับอาการแล้วเปลี่ยนเป็นชุดความคิดที่เหมาะสม เช่น ทุกครั้งที่ใจสั่นจะมีความคิดว่า ‘ตายแน่’ ให้รับรู้แล้วค่อยๆ เปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ‘ไม่เป็นไร ไม่ตาย’
- Exposure to fear cue (การเผชิญกับความกลัว) การเผชิญความกลัวของตัวเองและความจริงของโลกเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่จะทำให้เราหายจากแพนิคได้อย่างสง่างาม แม้ว่าจะกลัวแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น เราอาจฝึกการเผชิญกับสิ่งที่กลัวน้อยไปหามากตามลำดับ
เพราะความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ความกลัวก็ไม่เคยทำให้ใครตาย ถ้าเราฝึกฝนหัวใจให้แข็งแรงพอ