fbpx

Movie and Mind ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 4 ศึกนันทบุเรง จุดหมายของบุญทิ้ง

Movie and Mind “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 4 ศึกนันทบุเรง”

จุดหมายของบุญทิ้ง

จะเขียนถึงภาพยนตร์ทั้งที นาทีนี้เห็นทีจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้คงไม่ได้

ตำนานสมเด็จพระนเรศวร จัดว่าเป็นภาพยนตร์แห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยเราก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่แค่เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์เท่านั้นแต่ยัง เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุด (940 ล้านบาท) ใช้เวลาในการถ่ายทำนานที่สุด (มากกว่า 10 ปีและปัจจุบันยังคงถ่ายทำอยู่) มีดาราทั่วฟ้าเมืองไทยมาร่วมแสดง ใช้ระยะเวลาในการฉายมากที่สุดและนานที่สุด โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550

ภาค 1 องค์ประกันหงสา พ.ศ. 2550

ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ พ.ศ. 2550

และภาค 3 ยุทธนาวี พ.ศ. 2554

จนกระทั่งเดือนสิงหาคมของปีนี้ ภาคที่ 4 ซึ่งยังไม่ใช่ภาคสุดท้าย ก็ได้ฤกษ์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว โดยภาคนี้ได้ชื่อว่า ศึกนันทบุเรง

ที่ชื่อว่า ศึกนันทบุเรง เพราะหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพให้กรุงศรีอยุธยาพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่า และยกกองทัพพร้อมไพร่พลกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้านันทบุเรงซึ่งเป็นกษัตริย์ของพม่าขณะนั้นก็ได้ยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์กลับมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง เพื่อหวังจะได้กรุงศรีอยุธยากลับไปเป็นเมืองขึ้นเป็นครั้งที่สอง และหวังให้อยุธยาราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือและเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศมิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าประเทศราชที่อยู่ในการปกครองของฝ่ายพม่า ดังนั้นจึงถือว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ระหว่างไทย-พม่าครั้งหนึ่ง

เมื่อเป็นภาพยนตร์สงคราม ภาพที่ได้เห็นคงไม่พ้นฉากการฆ่าฟัน สูญเสีย ความโศกเศร้า และในภาคนี้ก็มีการสูญเสียครั้งสำคัญ คือตัวละครที่ชื่อบุญทิ้ง หรือออกพระราชมนู (นำแสดงโดย นพชัย ชัยนาม) พระสหายคนสนิทและทหารเอกคู่ใจของพระนเรศวร

ที่ชื่อบุญทิ้งเพราะเป็นเด็กที่ถูกนำมาทิ้งไว้ในชุมชนที่พระนเรศวรทรงพำนักอยู่กับพระเถรคันฉ่องเมื่อตอนที่ถูกจำไปเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี ชื่อบุญทิ้งจึงไม่ใช่เพียงแค่นามที่ใช้เรียก

แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นมาของคนคนนี้ เพราะโดยตามปกติ เด็กที่เกิดมาบนโลกนี้ทุกคนต้องการคนดูแลเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่ใช่เพราะเกิดมาเป็นคนเอาแต่ใจ แต่เป็นไปตามพัฒนาการของสมองและร่างกายแล้วส่งผลไปยังจิตใจ

สังเกตุนะค่ะว่าแรกเกิดเด็กต้องการอาหารและการนอนเพื่อให้ร่างกายอยู่รอด ดังนั้นหิวนมทีต้องร้องกระจองงองแง ไม่สนใจอะไรจนพ่อแมต้อง่วิ่งวุ่น เข้าวัยเตาะแตะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ เด็กก็จะเริ่มคลาน ตั้งไข่ พอออกเดินได้พ่อแม่ก็ไม่เป็นอันทำอะไรเพราะต้องคอยระวังอันตราย้ ก่อนวัยเรียนเด็กเริ่มเรียนรู้การเล่นกับคนอื่น พ่อแม่ก็ต้องคอยสอนว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และทำตัว่เป็นแบบอย่าง

เข้าสู่วัยเรียน อยู่ในสังคมมากขึ้นต้องเรียนรู้เรื่องกฏระเบียบ เริ่มรู้จักการแข่งขันกันคนอื่นและมีความพยามในเป้าหมายของตัวเอง พ่อแม่ก็ต้องคอยให้คำปรึกษาและสนับสนุน จะเห็นได้ว่าโดยพัฒนาการของการเป็นมนุษย์เราต้องมีพ่อแม่ หรืออาจจะเป็นผู้ดูแลที่คอยประคับประคองให้เราเติบโต ไม่ใช่แค่ร่างกายแต่ยังรวมถึงสภาวะทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมและศิลธรรม มโนธรรมในใจ ที่ได้จากการซึมซับประสบการณ์ ความรักและความผูกพันธ์จากคนที่คอยดูแล จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเราจะเคยพบเจอคนที่มีปัญหาทางจิตใจ ความสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมบางอย่างเพียงเพราะเค้าคนนั้นเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง (neglect child)

เพราะนอกจากความหิวกระหายในความรัก ชีวิตนี้ก็แทบจะไม่มีจุดหมายใด

แต่ถ้าใครติดตามภาพยนตร์เรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ก็จะเห็นว่าบุญทิ้งไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือทิ้งขว้างชีวิตของตนเองตามชื่อที่ได้มา แต่กลับใช้ชีวิตแบบมีบุญที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

เพราะบุญทิ้งเป็นคนมีจุดมุ่งหมายในชีวิต

บุญทิ้งรู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร – เพื่อทำประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่นและประเทศชาติ

บุญทิ้งรู้ว่าเกิดมารักใคร – รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และเลอขิ่น

บุญทิ้งรู้ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร – รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ กตัญญูและจงรักภักดี

เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้บุญทิ้งมั่นใจได้ว่าชีวิตของตนเองมีคุณค่าและความหมายแค่ไหน

สุดท้ายแม้ตอนจบของภาคนี้จะเป็นการจบชีวิตของตัวละครที่ชื่อบุญทิ้ง แต่ก็ถือว่าเป็นการจบชีวิตที่น่าภาคภูมิใจ พวกเราโชคดีที่ไม่ได้มีที่มาและมีชื่อเรียกแทนตัวเองว่าบุญทิ้ง แต่ลองถามตัวเองดูนะคะว่า เรากำลังใช้ชีวิตแบบทิ้งขว้างกันอยู่หรือเปล่า