fbpx

จะบอกคนใกล้ตัวอย่างไร เมื่ออยากพาเขาไปพบจิตแพทย์

คำถามหนึ่งที่เอิ้นพบบ่อยนอกห้องตรวจคือ ถ้าอยากพา แม่ พ่อ แฟน ไปพบจิตแพทย์ เราจะมีวิธีการอย่างไร คนถามคำถามนี้ก็จะถูกเอิ้นถามกลับไปทุกครั้งว่า “เพราะอะไรถึงอยากให้คนใกล้ตัวคนนั้นมาพบจิตแพทย์” คำตอบมักมีสองแบบคือ รู้สึกว่าตัวเองได้รับความเดือดร้อน ไม่ก็รู้สึกไม่สบายใจเพราะเป็นห่วง คำถามถัดไปคือ เราเองเคยสื่อความในใจที่ห่วงใยนี้ให้คนใกล้ตัวรู้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ 99% คือไม่ เพราะกังวลว่าอีกฝ่ายจะไม่พอใจหรือถูกตัดสินบ้ารึป่าว สิ่งนี้สะท้อนเราได้สองอย่างคือ

  1. เราเองก็คิดว่าการมาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องของคนบ้าเท่านั้นหรือเปล่า
  2. เรากลัวที่จะสื่อสาร หรือเราแค่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร

จากประสบการณ์ของเอิ้น ผู้ป่วยที่ญาติอยากจะพามาพบจิตแพทย์จะมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน

1. ผู้ป่วยอยากมาอยู่แล้วแต่ไม่กล้า

กลุ่มนี้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องสื่อสารให้เป็น เพราะผู้ป่วยแค่ต้องการกำลังใจ การสนับสนุน และช่องทางที่ดีในการพบจิตแพทย์เท่านั้น ดังนั้นญาติสามารถแสดงความห่วงใย ด้วยการพูดโดยตรงว่า เรารู้สึกเป็นห่วงผู้ป่วยอย่างไรบ้าง เราปรารถนาจะช่วยเหลือ และพาไปพบจิตแพทย์อย่างไร แล้วมาเป็นเพื่อนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปพบจิตแพทย์

หลังการตรวจรักษา ควรให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการขอบคุณ ที่เขาเริ่มดูแลตัวเองเพื่อความสุขของคนในครอบครัว

2. ผู้ป่วยไม่คิดอยากมาเพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีปัญหาในเรื่องความคิดที่ผิดปกติ เช่น หลงผิด จิตประสาทหลอน ทำให้คิดว่าที่ตัวเองคิดอยู่คือความจริง และปัญหาอยู่ที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ หรือเป็นกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด และคิดว่าตัวเองไม่ติด จะเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่ความจริงไม่เคยเลิกได้

กรณีนี้จะซับซ้อนขึ้นมาหน่อย ตัวเราคือคนปกติอาจจะต้องยอมมาเป็นคนไข้ และไปพบจิตแพทย์เสียเอง โดยให้ผู้ป่วยตัวจริงมาด้วย และมีส่วนร่วมในการรักษาความเครียดของเราที่เกิดจากการไม่ยอมรับความเจ็บป่วยของเขา การเยียวยาแบบมีส่วนร่วม จะช่วยให้เขาเปิดใจยอมรับการรักษาได้ง่ายขึ้น

3. ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มที่ควรบังคับรักษา

กลุ่มนี้มีพฤติกรรมเชิงประจักษ์ว่า ปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น ขังตัวเองอยู่ในห้อง และมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูง อาละวาดทำลายข้าวของ หรือทำร้ายคนรอบข้าง จากอาการจิตประสาทหลอนหรือความมึนเมา

กรณีนี้เข้าข่ายต้องบังคับรักษา เพราะถ้าปล่อยไว้อาจเกิดการสูญเสียได้ ควรโทรแจ้ง 191 หรือ 1669 เพื่อพาผู้ป่วยไปประเมินที่โรงพยาบาลใกล้เคียง ก่อนส่งต่อมายังโรงพยาบาลเฉพาะทางในเครือข่าย

สิ่งสำคัญที่สุดในการอยากให้ใครคนหนึ่งเปิดใจยอมรับความช่วยเหลือจากเรา นั่นคือการที่เราต้องเปิดใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเราก่อน


AUTHOR : หมอเอิ้น พิยะดา จิตแพทย์ นักแต่งเพลง ผู้บริหารโรงแรมเลยพาวิลเลี่ยนและเเพลินคอฟฟี่โรสเตอร์ เธอทำทุกงานด้วยความตั้งใจและหัวใจเสมอ เพราะเอิ้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างความสุข

Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/