คุณเคยรู้สึกหรือนึกสงสัยตัวเองบ้างไหมว่า ตอนนี้ฉันปกติหรือเปล่า ก่อนหน้าที่เอิ้นจะมาเรียนจิตแพทย์ เอิ้นเองก็เกิดคำถามนี้กับตัวเองบ่อยครั้ง หลังจากที่เรียนจบและฝึกประสบการณ์กับชีวิตจริงอยู่พักใหญ่ๆ จึงเริ่มเข้าใจคำตอบของคำถามนี้ และกลายเป็นคนที่คนอื่นมักจะถามตลอดมาว่า “ฉันปกติหรือเปล่าคะหมอ”
ปกติหรือไม่ปกติ ความจริงแล้วไม่ใช่ปัญหา เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเรายอมรับและดูแลรักษา เราทุกคนก็สามารถกลับมาปกติได้หมด
แต่ปัญหาของการที่เราจะบอกใครคนหนึ่งว่าเขาไม่ปกติ กลับอยู่ที่การตีความของสังคมที่เหมารวมคนที่ถูกวินิจฉัยความผิดปกติว่าพวกเขาเป็น ‘บ้า’ ซึ่งความจริงแล้วคนที่เราสามารถใช้คำว่า ‘บ้า’ ได้นั้นมีน้อยมาก
แล้ว ‘บ้า’ คืออะไร บ้า คือสภาวะที่คนเราหลุดออกไปจากโลกของความจริง (Out of Reality) โดยการหลุดออกจากความเป็นจริงนั้นมีลักษณะสำคัญคือ มีความคิดและความเชื่อที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงอย่างไม่มีอะไรมาสั่นคลอนได้ และพยายามแสดงความเชื่อนั้นออกมาจนคนรอบข้างเดือดร้อน
สภาวะบ้านี้มี 2 แบบคือ
- แบบชั่วคราว เช่น หลังเสพยาบ้า ผู้เสพอาจมีความคิดหวาดระแวงว่าคนข้างบ้านจะมาฆ่าตัวเอง ไวต่อเสียงที่ได้ยิน มีหูแว่วว่าคนข้างบ้านด่าว่าตัวเอง จึงต้องพกอาวุธเพื่อป้องกันตัว หรือพยายามออกไปทำร้ายคนข้างบ้านก่อน พอหมดฤทธิ์ยาบ้า ความคิดหวาดระแวงนั้นก็หายไป (ที่ยกตัวอย่างนี้เพราะเป็นเคสที่เกิดขึ้นจริง และพบได้บ่อยในโรงพยาบาลจิตเวช)
- แบบถาวร เช่น กลุ่มผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่ได้รับการรักษา หรือขาดยานานจนมีอาการหูแว่ว หรือภาพหลอน หรือหลงผิดตลอดเวลา (อย่างที่เราอาจพบได้ตามท้องถนน)
อ่านมาถึงตรงนี้คงพอเข้าใจนะคะว่า คนเราไม่ได้บ้ากันง่ายๆ ถ้าไม่นับ บ้างาน บ้าช้อปปิ้ง บ้าความรัก (เอ่อ…อันนี้ก้ำกึ่ง) เพราะเป็นความบ้าตามกิเลสโดยปกติ
ดังนั้นตราบใดที่เรายังเช็กตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันบ้าไหม ฉันทุกข์เพราะอะไร ฉันได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครหรือเปล่า นั่นแสดงว่าคุณยังอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่บ้า และสติสัมปชัญญะที่อยู่ในตัวคุณเองคือยาวิเศษที่สุด
ขอทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า “คำว่า บ้า คือคำสงวน เราควรใช้สอยอย่างประหยัด” นะคะ
AUTHOR : หมอเอิ้น พิยะดา จิตแพทย์ นักแต่งเพลง ผู้บริหารโรงแรมเลยพาวิลเลี่ยนและเเพลินคอฟฟี่โรสเตอร์ เธอทำทุกงานด้วยความตั้งใจและหัวใจเสมอ เพราะเอิ้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างความสุข