ปัจจุบันเราอาจมีความรู้สึกว่าคนในสังคมเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น อาจเกิดจากการที่สภาพสังคมมีความตึงเครียด การยอมรับเรื่องของการซึมเศร้ามีมากขึ้น
แต่ในความเป็นจริงของการดำเนินชีวิต การที่มีคนเป็นซึมเศร้าหนึ่งคน ไม่ได้หมายความว่าความเศร้าจะรุมเร้าแค่คนที่ป่วยเท่านั้น แท้จริงแล้วยังมีคนได้รับผลกระทบกับความเศร้านั้นอีกมาก โดยเฉพาะคนใกล้ตัวคนที่เป็นโรคซึมเศร้า คนหลายคนก็เป็นซึมเศร้าตามเพราะ ความเศร้าของอีกคนกลายเป็นความเครียดเรื้อรังสำหรับอีกคน
ความเครียดเรื้อรัง คือ ความเครียดที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ยาวนาน ปัญหาไม่มีท่าทีว่าหายไปและอยู่เหนือการควบคุมของเรา ดังเช่น โรคซึมเศร้าของคนข้างกายเราก็อยู่เหนือการควบคุมของเราเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากจะป่วยตามคนข้างๆ เราควรมีวิธีการรับมือที่จะทำให้เราทุกข์น้อยที่สุดและช่วยเหลือคนข้างกายเราได้เช่นกัน
3 สิ่งที่เราควรทำเมื่อข้างกายเป็นโรคซึมเศร้า
1. ทำความเข้าใจสิ่งที่เราควรเข้าใจ: เข้าใจตัวเองว่าการที่คนข้างกายเปลี่ยนไปมีผลกับตัวเราอย่างไรบ้าง ทั้งด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของเราเอง (เพื่อให้เราแยกตัวเองออกว่า ความทุกข์นี้เป็นของใคร), เข้าใจโรคซึมเศร้า (การเข้าใจโรคจะทำให้เราเข้าใจผู้ป่วยง่ายขึ้นและลดความกังวลในตัวเอง)
2. ระวังสิ่งที่เราควรระวัง: ระวังคำพูด (เนื่องจากผู้ป่วยซึมเศร้าจะมีกระบวนการคิดแบบสมองซึมเศร้า เช่นแปลความในทางลบได้ง่าย ดังนั้น คำพูดบางคำอาจส่งผลให้อาการแย่ลง เช่น สู้ๆนะ เรื่องแค่นี้เอง อย่าร้องไห้ อย่าอ่อนแอ คำเหล่านี้ถือเป็นคำต้องห้าม)
3. ทำสิ่งที่เราควรกระทำ: ให้เวลา (ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา แต่หมายถึงการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น เวลาในการฟังความคิดแบบคนเศร้าของเขา แม้ว่าบางอย่างเราฟังแล้วอาจไม่เห็นด้วย แต่เราก็ได้เข้าใจกระบวนการคิดของผู้ป่วยว่าการคิดแบบเป็นโรคกับไม่เป็นโรคนั้นต่างกันอย่างไร), ดูแลให้ผู้ป่วยอยู่ในการรักษาของจิตแพทย์ (สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะแยกว่าเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ นั่นคือ การตอบสนองต่อยา เพราะการเป็นโรคซึมเศร้าคือการที่โครงสร้างสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนเหนือการควบคุมของคนคนนั้น
การให้ผู้ป่วยทานยาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเศร้าเพียงเพราะไม่สมหวัง เมื่อมีคนมาสนใจหรือทดแทนความไม่สมหวังนั้นแล้วอาการดีขึ้น แสดงว่าคนนั้นยังไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า) ให้การรับฟัง (แม้หลายอย่างฟังแล้วยังไม่เข้าใจ) แสดงออกเมื่อเกิดความเข้าใจ (เช่นโอบกอดให้กำลังใจ สื่อสารสะท้อนความเข้าใจของเราต่อความเศร้าของเขา)
สุดท้าย สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ตัวเราเอง เรามีจังหวะกลับมาดูแลความรู้สึกตัวเองบ้าง ก่อนที่ความสัมพันธ์จะกลายเป็นแบบซึมเศร้าคูณสอง Double Depression