จากบทความที่แล้ว เราได้ทราบเรื่องราวและผลกระทบกับการที่มีใครสักคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อมไปแล้ว
หมอยังขอเน้นย้ำว่า การรักษาสำหรับโรคสมองเสื่อมโดยส่วนมากเป็นแบบประคับประคองเท่านั้น
เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่สามารถบอกได้เต็มปากว่ารักษาได้ 100%
ดังนั้น การป้องกันไว้ไม่ให้เกิดโรคสมองเสื่อมเป็นดีที่สุด
เพราะการป้องกันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
แต่ยังทำให้เรามีความสุข มีคุณภาพชีวิตและการงานที่ดี
“สมองไม่ใช่แค่ก้อนไขมันส่วนบนสุดของร่างกาย แต่ยังเป็นที่มาของความคิดและอารมณ์ความรู้สึก”
4 กุญแจสำคัญในการดูแลรักษาสมองของเราคือ
1. การกิน การกินที่ดีถือเป็นการเติมพลังสมอง ดังนั้น เราควรรู้ว่าอะไรกินแล้วดี อะไรกินแล้วไม่ดี
- การกินที่ดี คือ รับประทานไขมันไม่อิ่มตัวอย่าง โอเมก้า 3 ที่พบในปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
- รับประทานวิตามินอีและโฟลิกจากผักใบเขียว ผลไม้เนื้อครีมอย่างอะโวคาโด้
- รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระจากผลไม้ โดยเฉพาะตระกูลเบอรี่
- รับประทานไฟเบอร์ จากธัญพืช
- การกินที่ไม่ดี คือ กินสิ่งที่มีผลทำลายสมอง เช่น สารเสพติด ยาที่ไม่จำเป็น อาหารที่มีไขมันทราน
2. การออกกำลังกาย สิ่งสำคัญคือการเคลื่อนไหว สาเหตุที่การอออกำลังกายช่วยป้องกันสมองเสื่อมเพราะ
- ช่วยเพิ่มสาร Norepinephrine ที่มีผลในการช่วยเพิ่มความสนใจ การรับรู้และแรงจูงใจ
- เพิ่มสาร BDNF (Brain – Derived Neurotrophic Factor) ช่วยรักษาระดับของสุขภาพเซลล์ประสาทที่ดี และกระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ประสาท
- มีการไหลเวียนโลหิตและออกซิเจนไปยังสมองมากขึ้น
- กระตุ้นการหลั่งสาร Endorphins,Serotonini และ Dopamine ช่วยในการควบคุมอารมณ์ รักษาสภาพจิตใจและการเรียนรู้
3. การนอนหลับ เหมือนเป็นช่วงเวลาในการเคลียร์ขยะของสมอง คนเราใช้เวลาประมาณ 7-9 ชั่วโมงเพื่อให้เซลล์ในร่างกายถูกซ่อมแซมและข้อมูลขยะในสมองถูกทำลายด้วย เซลล์เกลีย ดังนั้น หากเราอดนอนจึงเป็นการเร่งให้เกิดภาวะเสื่อมของสมอง อย่างที่เราจะสังเกตได้ว่า วันไหนที่เราอดนอนอัตราการตอบสนอง ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการตัดสินใจ ความจำและการควบคุมอารมณ์ทุกอย่างจะถดถอยลงในวันนั้น
4. การเพิ่มศักยภาพให้สมอง ถ้าร่างกายต้องการการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กล้ามเนื้อ สมองก็ต้องการการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่มศักยภาพสมอง กิจกรรมสร้างสรรค์นี้มีหลักให้ยึดถือ 3 ประการคือ
- ความแปลกใหม่ (Novelty) ลองทำอะไรใหม่ที่สมองยังไม่เคยมีข้อมูล หรือไม่เคยทำมาก่อน
- ความหลากหลาย (Variety) ลองทำหรือพาตัวเองไปพบประสบการณ์ที่หลากหลาย
- สร้างความต่อเนื่องในความท้าทาย (Continuing challenge)
Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/
Youtube : https://bit.ly/2Ul9Pc5