fbpx

การปฐมพยาบาลทางใจตัวเองในภาวะเครียด

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายิ่งโลกหมุนเร็วตามเทคโนโลยีเท่าไร ความเครียดที่สะสมทางใจยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เพราะความเร็วทำให้เรามองเห็นตัวเองน้อยลง สนใจคนอื่นแบบฉาบฉวยมากขึ้น เราสื่อสารกันแบบลอบกัดตามแป้นคีย์บอร์ดได้อย่างเต็มที่ การสื่อสารแบบขยะที่เรารับมาแบบไม่ทันรู้ตัวนี่เองที่สะสมเป็นตะกอนนอนก้นภายในจิตใจ

เมื่อตะกอนทางใจมากขึ้น เราก็จะแสดงอาการเครียดมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน แล้วเมื่อมันสะสมถึงขีดสุดคือเริ่มส่งผลต่อโครงสร้างสมอง เราก็จะก้าวข้ามเขตจากภาวะเครียดกลายเป็นโรคได้ ดังนั้น เราควรรู้วิธีการดูแลความเครียดของตัวเองเบื้องต้นโดย

1. หยุดสังเกต : เมื่อเราเริ่มมีความเครียดควรถามตัวเองว่า ‘ฉันเครียดเรื่องอะไรบ้าง’ (ถ้ารู้ก็ลิสต์หัวข้อที่ทำให้เครียดทั้งหมดออกมาแล้วให้เปอร์เซ็นต์ในแต่ละเรื่องเพื่อที่จะได้รู้ว่าเรื่องไหนมีผลต่อจิตใจเรามากที่สุด) แต่ถ้านึกไม่ออกเลยหรือจับต้นชนปลายไม่ถูก คุณควรหาผู้ช่วย

“ฉันเครียดระดับไหน”

  • เล็กน้อย (ตื่นมาไม่สดชื่น, มึนงงง่าย, ใจลอย, ปวดหัวแบบไมเกรนบ่อย เป็นต้น)
  • ปานกลาง (ระบบประสาทอัตโนมัติ, ระบบเผาผลาญ, ฮอร์โมน หรือภูมิคุ้มกันอาจเริ่มผิดปกติ เช่น หายใจไม่อิ่ม ประจำเดือนเลื่อน ป่วยง่าย เป็นต้น)
  • มาก (เริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน, การทำงาน, ความสัมพันธ์) ควรรีบไปพบจิตแพทย์ด่วน

2. ยอมรับ : ยอมรับว่าช่วงนี้เราไม่ปกติ สมองเราเครียด 

3. ระวังความคิด สังเกตความต่าง : ความคิดมักเป็นในรูปแบบ คิดลบกับตัวเอง คนอื่น และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

4. ไม่เพิ่มเชื้อความเครียด : เช่น เสพสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ อยู่ใกล้คนที่เอาแต่เรื่องชาวบ้านมานินทา หรือตัดสินใจสิ่งที่สำคัญตามอารมณ์ตอนนั้น เช่น หย่าร้าง ลาออกจากงาน

5. เพิ่มช่องทางรับความสุข : เช่น พาตัวเองกลับไปหาสิ่งที่ชอบ สถานที่ที่ไปแล้วสงบ เพลงที่ชอบฟัง อาหารที่ชอบทาน อ้อนคนที่เรารัก เป็นต้น


AUTHOR : หมอเอิ้น พิยะดา จิตแพทย์ นักแต่งเพลง ผู้บริหารโรงแรมเลยพาวิลเลี่ยนและเเพลินคอฟฟี่โรสเตอร์ เธอทำทุกงานด้วยความตั้งใจและหัวใจเสมอ เพราะเอิ้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างความสุข

Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/