fbpx

จะเจออะไรเมื่อตัดสินใจมาพบจิตแพทย์

เมื่อครั้งที่หมอได้ไปให้ความรู้กับนักศึกษาคณะวิศวะของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ในเรื่อง ‘รู้จักซึมเศร้าและเราสบาย’

การที่ต้องพูดคุยเรื่องของอารมณ์กับกลุ่มคน ที่ใช้เรื่องของฐานคิดเป็นหลัก เป็นสิ่งที่ท้าทายและสนุกมาก เพราะหมอไม่ได้อยากให้คนที่ฟังได้แค่ในเรื่องของอาการ หรือจดจำข้อกำหนดของการวินิจฉัย แต่ปรารถนาจะให้คนปกติเหล่านี้เข้าไปนั่งในความคิดและหัวใจของคนเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อว่าสักวันหนึ่งที่ชีวิตตัวเองตกหลุมอากาศเป็นโรคซึมเศร้าบ้างหรือคนข้างกายเป็นโรคซึมเศร้าก็จะได้เข้าใจ และรับมือได้อย่างถูกต้อง

หมอใช้กระบวนการของการดูมิวสิกวิดีโอ และเรื่องเล่าผ่านบทเพลงมาช่วยในการบรรยาย ผลปรากฏว่าศิลปะคือคำตอบของการเชื่อมโยงโลกของความคิดและความรู้สึกได้ดีทีเดียว เมื่อประตูใจของเหล่าว่าที่วิศวะเปิดออก คำถามเกี่ยวกับจิตใจจึงพรั่งพรูออกมามากมาย สุดท้ายมีคำถามที่ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของการบรรยาย และเป็นที่สนใจของคนในคลาสคือ “ถ้าเราต้องการไปพบจิตแพทย์เราจะต้องทำอย่างไร และต้องเจออะไรบ้าง?”

คำถามแรก เราจะไปพบจิตแพทย์ได้อย่างไร? ในยุคสมัยนี้เราโชคดีที่มีโลกของอินเทอร์เน็ต หากเราอยู่ในพื้นที่ไหนเราก็สามารถหาข้อมูลจิตแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้นได้เลย แต่ เราต้องตอบตัวเองก่อนว่าเราต้องการไปรักษาที่สถานพยาบาลประเภทไหน

คลินิก (ข้อดีคือนัดเวลาแน่นอนได้, ประหยัดเวลา, หมอมีเวลาพูดคุยมากกว่าเพราะจำนวนผู้ป่วยไม่มาก ข้อเสียคือ ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด และราคาสูงเพราะจิตแพทย์ต้องใช้เวลาต่อคนค่อนข้างมากกว่าการตรวจปกติ) โรงพยาบาลเอกชน (ข้อดีคือ มีระบบการนัดกับแพทย์เจ้าของไข้ที่ชัดเจน, บางโรงพยาบาลมีทีมนักจิตวิทยาในการรักษาด้วย ข้อเสียคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ราคาค่อนข้างสูง)โรงพยาบาลรัฐทั่วไป เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลทางกายทั่วไปมักจะมีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาล แม้ว่าจะจำนวนไม่มากเท่าโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจิต หรือหากไม่มีก็จะมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมเรื่องของจิตเวชและการให้คำปรึกษาอยู่ และก็มียารักษาเบื้องต้น (ข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากๆ เพราะเราสามารถใช้สิทธิการรักษาเบื้องต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม เบิกตรง เป็นต้น เป็นจุดเริ่มต้นการรักษาที่ดีหากเป็นโรงพยาบาลที่เรามีสิทธิการรักษาอยู่ เพราะเมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าเกินความสามารถในการดูแลรักษา เราจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่มีความสามารถมากกว่าโดยสะดวกและมีสิทธิการรักษาคุ้มครอง เพราะมีระบบรองรับ ข้อเสียคือ: อาจไม่ได้พบแพทย์คนเดิม ระยะเวลารอคอยยาวนาน แพทย์อาจมีเวลาตรวจรักษาสั้น ไม่มีทีมรักษาที่ครบครัน เพราะจำนวนผู้ป่วยที่มาก แพทย์ที่น้อย) โรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในเครือกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตจะดูแลโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะด้านทางจิตเวชเท่านั้น ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงเราได้ที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต (ข้อดีคือ: เราจะได้พบจิตแพทย์โดยตรงแน่นอน โรงพยาบาลมีทีมสหวิชาชีพเช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัดเป็นทีมครบครัน มีหอผู้ป่วยที่รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก, ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาเพราะสิทธิการรักษาได้เมื่อมีหนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด ข้อเสียคือ: ไม่ได้มีอยู่ในทุกจังหวัด ผู้ป่วยรับบริการมีจำนวนมาก อาจต้องใช้เวลารอคอยและระยะเวลาในการตรวจ แล้วแต่กรณี และจำนวนผู้ป่วยในวันนั้นมีโอกาสที่จะไม่ได้พบแพทย์คนเดิมตลอด)

ดังนั้น เราสามารถเลือกสถานพยาบาลที่จะรักษาได้ให้เหมาะสมกับบริบทชีวิตของเรา

คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะเจออะไรบ้างเมื่อไปพบจิตแพทย์?

ขอเป็นกรณีของการไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลในกรมสุขภาพจิตนะคะ เพราะเป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนด้านนี้โดยตรง

1. ต้องทำบัตรผู้ป่วย: หลายคนเจอข้อนี้ก็จะไม่อยากไปแล้ว เพราะกลัวเสียประวัติบ้าง กลัวคนอื่นมองว่าเป็นบ้าบ้าง ข่าวดีคือการรักษาความลับผู้ป่วยถือเป็นกฎเหล็กของวิชาชีพโดยเฉพาะจิตเวช ดังนั้น เรื่องการเสียประวัติจะไม่เกิดหากคุณไม่เป็นคนเอาไปบอกใครว่าเป็นอะไรเอง ส่วนเรื่องการกลัวคนอื่นมองไม่ดี สิ่งนี้เป็นเรื่องทัศนคติที่เราต้องชั่งน้ำหนักว่าการแคร์ภาพลักษณ์กับการแคร์ความทุกข์ของตัวเอง เวลานี้อะไรสำคัญที่สุด)

2. ต้องถูกซักถามเรื่องของอาการที่มาพบจิตแพทย์มากกว่า 2 รอบ: รอบแรกที่จุดขึ้นบัตร รอบสองที่จุดคัดกรองที่ผู้ซักถามจะเป็นพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช (เป็นการซักถามประวัติคร่าวๆ เพื่อการส่งต่อการรักษา) รอบสามคือในห้องตรวจขณะพบจิตแพทย์ (เป็นการซักถามอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัย วางแผนการรักษาในระยะสั้นและในระยะยาว)

3. ส่งต่อการบำบัดรักษาให้ทีมสหวิชาชีพ: เช่น การทำแบบทดสอบเพิ่มเติมหรือทำจิตบำบัดกับนักจิตวิทยาต่อ ในประเด็นที่ค้างคาใจที่คิดว่าการให้ยาอย่างเดียวอาจไม่ช่วย, นักสังคมสงเคราะห์กรณีที่ปัญหานั้นต้องให้ครอบครัวหรือชุมชนมามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา หรืออาจจะข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย

4. รับยา: หากจิตแพทย์ประเมินแล้วว่าความผิดปกตินั้นอยู่ในระดับที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง แต่บางคนก็อาจจะไม่ต้องทานยา เพียงปรับทัศนคติที่มีต่อปัญหาหรืออาการ

ไม่ว่าเราจะเข้าพบจิตแพทย์ที่ไหน อย่างไร สิ่งที่เราควรเช็กตัวเองว่าเรามารักษาถูกทางแล้วหรือเปล่า คือ

  1. เมื่อรับการรักษาไปสักระยะแล้ว ความเจ็บป่วยทางจิตใจของเราดีขึ้นหรือไม่
  2. เราเริ่มรู้สึกมีความสุข เริ่มกลับมาใช้ศักยภาพของตัวเองได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นหรือไม่
  3. เริ่มเห็นหนทางที่จะดูแลและพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จตามบริบทของเราหรือไม่

เพราะ 3 สิ่งนี้คือพันธกิจที่ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาจิตใจของผู้คนจะมีไว้เป็นพื้นฐาน


Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew

IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/