fbpx

จิตแพทย์ชี้วิธีเยียวยา “ทีมหมูป่า” อิงลักษณะชั้นหัวหอม ครอบครัวสำคัญที่สุด

หลัง 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี ออกมาจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัยครบถ้วน และขณะนี้กำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงราย ประชานุเคราะห์ เพื่อรอความพร้อมให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมและพบปะ นอกจากการพักฟื้นร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยแรกที่ควรให้ความสำคัญแล้ว เรื่องจิตใจเป็นอีกเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรร่วมกันเยียวยา

โดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่หรือคนในครอบครัวซึ่งคุณเอิ้น-แพทย์หญิงพิยะดา หาชัยภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลจิตเวช จังหวัดเลย มองว่าเป็นบุคคลสำคัญในการช่วยเยียวยาทั้ง 13 ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า โดยยกลักษณะชั้นหัวหอมขึ้นมาเปรียบเทียบลักษณะการเยียวยาที่ทุกคนสามารถช่วยกันเยียวยาและร่วมมือกันดูแลได้อย่างเป็นระบบ

การเยียวยาแบบชั้นหัวหอม เป็นการเยียวยาที่เริ่มต้นจากชั้นที่อยู่ด้านในลึกที่สุดไปจนถึงชั้นที่ด้านนอกห่างออกไปจากชั้นด้านใน

ชั้นที่ 1-13 ชีวิตทีมหมูป่า เยียวยาตนเองด้วยการก้าวข้ามความรู้สึกผิด เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ชั้นที่ 2- คุณพ่อ คุณแม่และครอบครัว สามารถช่วยเยียวยาเด็กๆ นอกจากการอยู่ใกล้ชิดพวกเขาแล้ว ยังมีวิธีเหล่านี้

1.บอกความรู้สึกของตัวเอง

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ว่าตนเองรู้สึกเป็นห่วงพวกเขามากแค่ไหน ทานไม่ได้นอนไม่หลับอย่างไร ซึ่งเท่ากับเป็นการเยียวยาตนเองไปพร้อมกัน แต่คุณพ่อ คุณแม่จะต้องไม่ต่อยอดด้วยการพูดว่า “คราวหน้าไม่เอาแล้วนะ” หรือ “ทำไมทำแบบนี้” หรือเล่าว่าข้างนอกเขาช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง รวมทั้งห้ามเตือน ห้ามสอน

2.ตั้งคำถามกับเด็กๆ

คุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัวสามารถตั้งคำถามกับพวกเขาได้ แต่ต้องเป็นคำถามเชิงบวก เป็นคำถามที่แสดงความห่วงใย เช่นเป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง มีความคิดอย่างไรบ้าง หรือเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าจิตแพทย์ เพราะการตั้งคำถามด้วยความรู้สึกห่วงใยเป็นหัวใจหลักที่จะเป็นทั้งกำลังใจ และช่วยเยียวยาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปพร้อมกัน เพราะทำให้พวกเขาได้เห็นตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเยียวยาอย่างมีคุณค่า

3.รับฟังแบบเปิดใจฟัง

การฟังต้องเป็นการฟังจริงๆ ซึ่งต่างจากการได้ยิน การฟังที่แท้จริงคือฟังถึงความรู้สึกข้างในของพวกเขา ซึ่งต้องมีสติ ปลดความโกรธ ความกังวลออกไปก่อนฟัง พร้อมทั้งบอกตัวเองว่าตัวเองพร้อมฟังทุกอย่าง แม้จะคิดต่าง ฟังแบบไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ได้ยินผิดหรือถูก ฟังแล้วต้องรู้สึกว่าตนเองได้เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกด้วย

ชั้นที่ 3-คนนอกครอบครัว เช่นคนในชุมชม คนที่โรงเรียน คุณครู เพื่อน สามารถร่วมกันเยียวยา ด้วยการไม่ตั้งคำถามแบบซ้ำเติม ถามซ้ำไปซ้ำมา ตอกย้ำ แต่หากต้องการแสดงความห่วงใย คนนอกครอบครัวสามารถใช้อวัจนภาษา คือการสื่อสารแบบไม่พูด แต่แสดงออกด้วยการส่งสายตาแห่งความห่วงใย จับไหล่เบาๆ หรือการกอดของครูในโรงเรียนก็เป็นหนึ่งในการเยียวยาที่มีคุณค่า

ชั้นที่ 4 – สังคม ผู้ใหญ่ในสังคม สื่อ คุณหมอ หรือแม้แต่จิตแพทย์ต่างๆ บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่อยู่วงนอกมาอีก ขอเพียงตั้งเป้าหมายว่าการเยียวยาที่แท้จริงคือการไม่ทำให้เกิดสิ่งที่แย่ อย่างเช่นสื่อมวลชน ถ้าต้องการให้เด็กๆ ไปสัมภาษณ์ อาจให้โอกาสทั้ง 13 คนได้ขอโทษ ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือพวกเขา รวมทั้งให้พวกเขาได้ระบายความคิดที่เขาได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ แทนการถามถึงเรื่องราวที่ยิ่งทำให้เขาจมอยู่ที่เดิม

ตลอดช่วงเวลาที่เด็กๆ กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ตามบทบาทเดิมของพวกเขา การเยียวยาแบบชั้นหัวหอมนี้สามารถใช้ไปได้ตลอด และหากต้องการประเมินว่าการเยียวยาได้ผลหรือไม่ คุณพ่อ คุณแม่และคนใกล้ชิดสามารถประเมินได้ด้วยตนเองโดยสังเกตจาก

1.การใช้ชีวิตของพวกเขา ยังทานอาหารได้ นอนหลับ หรือมีอาการสะดุ้งเวลานอนไหม นิสัยเหมือนเดิมหรือเปล่า

2.ความสัมพันธ์ สังเกตว่าเขาเก็บตัวมากขึ้นไหม เอาตัวเองออกจากสังคม กลุ่มเพื่อน คุณพ่อ-คุณแม่หรือเปล่า

3.ประสิทธิภาพต่างๆ เช่นผลการเรียนตกลงไหม มีสมาธิในห้องเรียนไหมหากเป็นตัวอย่างทีมหมูป่า อาจต้องพิจารณาเรื่องการเตะฟุตบอลว่าพวกเขายังเข้าซ้อมเหมือนเดิมหรือเปล่า

การเยียวยาที่เกิดจากทุกคนร่วมมือกัน และวางเป้าหมายไปในทิศทางที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น คือบทสรุปของการเยียวยาที่มีคุณค่า