fbpx

ทบทวนความเศร้ากันใหม่ เพื่อเตรียมหัวใจไปส่งพ่อ

การอยู่กับความเศร้าอย่างที่พ่อเราภูมิใจ

เปิดหัวข้อนี้ก็ทราบได้ทันทีว่าเอิ้นกำลังจะเขียนเรื่องอะไร
ตั้งแต่วันแรกที่เราสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

99.9% ของคนไทยก็เข้าสู่สภาวะสูญเสียร่วมกันรวมทั้งเอิ้นด้วย

0.01% ที่เหลือเราเว้นไว้ให้กับคนที่สมองไม่ปกติ ( จะเห็นคนพวกนี้จากการออกมาสร้างจุดเด่นต่างๆกับเหตุการณ์สูญเสียนี้ )

ตั้งแต่วันแรก เอิ้นก็ได้รับข้อความจากบรรดาแฟนเพจจำนวนไม่น้อยขอให้เขียนบทความเกี่ยวกับการจัดการกับความเศร้า แต่เอิ้นตั้งใจจะไม่เขียนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาด้วยเหตุผล 3 ประการ

1.ความเศร้าของทุกคนในตอนนี้คือสิ่งธรรมชาติ เพราะเราต่างสูญเสียที่รักที่สุดไป และ ไม่ควรปิดกั้นในช่วงสองสามวันแรก เพราะจะกลายเป็นเก็บกด (คนไม่เศร้าจึงแปลก คนแสดงออกไม่เหมาะสมจึงดูป่วย)

2.เราเห็นพลังของความเศร้าที่มาก เราจึงเพิ่งได้ตระหนักกันว่าพ่อมีค่ากับชีวิตเราแค่ไหน

3.ก่อนแนะนำใครเราก็ควรได้สัมผัสความทุกข์นั้นก่อนและพาตนเองพ้นทุกข์ได้ การแนะนำจึงจะมาจากความเข้าใจที่ลึกซึ้ง มิใช้แต่ทฤษฏีในตำรา ด้วยสามเหตุนี้ จึงปล่อยใจให้เห็นความเศร้า ก่อนช่วยพวกเราให้เดินหน้าตามรอยทางของพ่อไปพร้อมกัน

ตอนนี้เอิ้นคิดว่า ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้ “การอยู่กับความเศร้าแบบที่พ่อเราภูมิใจ”

ตั้งแต่จำความได้ ภาพพระราชกรณียกิจที่เห็นจนชินตาในทุกๆสองทุ่ม เมื่อถึงวัยเข้าเรียนก็ได้รับสมุดจดเป็นรูปท่าน

จากภาพทางทีวีที่เห็น

จากคำสอนผ่านหนังสือที่อ่าน

จากคำบอกเล่าของพ่อแม่ที่บอก

จากการได้สัมผัสสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆที่พระองค์ท่านสร้างไว้ให้

แม้เอิ้นจะไม่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่านเลยแม้สักครั้ง แต่สิ่งต่างๆที่ท่านทรงทำ กลับทำให้เอิ้นรู้สึกผูกพันแบบที่เคยถามตัวเองว่า

“ไม่มีท่านแล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร”

ก่อนนั้นแค่คิดขึ้นมาน้ำตาก็ไหลแล้ว แต่วันนี้เราสูญเสียในหลวงของเราไปแล้วจริงๆ
การสูญเสียพ่อของแผ่นดินในครั้งนี้จึงตามมาด้วยความเศร้าที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

ความเศร้าในรูปแบบของคุณเป็นอย่างไร?

ที่ถามแบบนี้เพราะเราต่างมีรูปแบบความเศร้าจากการสูญเสียแตกต่างกัน ทันทีที่เราทราบข่าวร้าย

บางคนร้องไห้ฟูมฟายในทันที

บางคนรู้สึก มึนงงเหมือนความฝัน

บางคนยังคิดว่ามันไม่เป็นความจริง

บางคนโกรธโชคชะตา

บางคนยอมรับมันด้วยความจำยอม

ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ จะเกิดความรู้สึกใดก่อนก็ได้ เกิดเพียงแค่บางความรู้สึกก็ได้ ทั้งหมดมาจากความรู้สึกสูญเสีย

อย่างเช่น วันแรกเอิ้นรู้สึกงง จริงหรือ
วันที่สอง สาม เห็นอะไรใครพูดอะไรที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านก็รู้สึกอยากจะร้องไห้ตลอดเวลา

วันที่สี่เริ่มยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้วแต่เรายังต้องมีชีวิตต่อไป

และเป็นชีวิตที่ยังคงทำและถ่ายทอดตามสิ่งที่พระองค์ท่านสอนให้มากที่สุด

แล้วเราจะผ่านความเศร้าจากความรู้สูญเสียครั้งนี้ไปได้อย่างไร?

การสูญเสียในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงเราเท่านั้นแต่เป็นการสูญเสียของคนทั้งแผ่นดิน

ดังนั้น เรามีความจำเป็นต้องตระหนักในสองด้าน คือ ด้านของการดูแลจิตใจตัวเอง และด้านของการเป็นประชนที่ต้องทำให้แผ่นดินของพ่อสงบสุข

ด้านการดูแลใจของตัวเอง

1.รับรู้อารมณ์ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ

2.แสดงออกถึงความเศร้าได้ ( เพราะการปิดกั้นอาจทำให้กลายเป็นเก็บกด)

บางคนร้องไห้ บางคนร้องเพลง บางคนเขียนลงนาม บางคนไปเป็นจิตอาสา บางคนสร้างกิจกรรมแสดงออกถึงความรัก เป็นต้น

3.สัมผัสคุณค่าและความหมายของสิ่งที่เราสูญเสีย

เมื่อเราทบทวนเราจะพบว่า
พระองค์ท่านเป็นพ่อ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจ
เป็นความอบอุ่น เป็นความมั่นคง
เป็นทุกอย่างในชีวิตของเราอย่างที่เรา

4.เริ่มมองปัจจุบันและอนาคตว่าเราจะมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างไรเมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้ว

เอิ้นเลือกที่จะบอกตวเองว่า “เราจะเดินตามรอยทางแห่งแนวคิดที่พระองค์ได้สอนไว้และถ่ายทอดสืบไปไม่ให้จางหาย”

5.เก็บความรู้สึกว่ามีพระองค์ท่านอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป

จากนี้เราจะไม่รู้สึกว่า พระองค์ประทับอยู่หัวหินหรืออยู่โรงพยาบาลศิริราช แต่พระองค์จะประทับอยู่กับเราตลอดเวลา

ด้านของการเป็นประชาชนที่ต้องทำให้แผ่นดินของพ่อสงบสุข

1.ใช้ห้วงเวลาของความเศร้าให้มีคุณค่า

ในเวลาที่ความรื่นเริงหายไปเราจะพบว่า เราช้าลงเพื่อได้ทำอะไรอย่างไตร่ตรอง เราใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น (จากการงดสังสรรค์)
เรามีเวลาอยู่กับคนที่เราควรอยู่มากขึ้น( เช่นพ่อแม่) เราได้ยินในสิ่งที่ควรได้ยิน (เรื่องราวและความรักของในหลวง)
เราเห็นในสิ่งที่ควรเห็น ( เห็นภาพความรักที่เป็นหนึ่งเดียว เห็นงานที่ในหลวงทำเพื่อเรา)

2.หยุดกระตุ้น

เช่น แสดงออกในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนส่วนมาก โพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม
โต้เถียงเมื่อพบความคิดเห็นที่ขัดแย้ง ( เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีสภาวะจิตใจที่เศร้า จึงยากที่จะเห็นด้านบวกแต่ง่ายที่จะเห็นด้านลบ )

3.หยุดกล่าวโทษ

ตอนนี้เราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อาจมีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะหาคนผิดตอนนี้ เช่น ทำไมหุ้นตก ทำไมงานยกเลิก ทำไมต่างชาติไม่เข้าใจ ทำไมๆๆๆๆๆๆๆ

4.หยุดส่งเสริม

ในสถานการณ์นี้อาจมีบุคคลที่สมองไม่พัฒนาตามปกติบางกลุ่มใช่เป็นลู่ทางในการสร้างจุดสนใจของตัวเอง โปรดมองการกระทำของพวกเค้าเช่นฝุ่น ไร (เมื่อเรียกร้องแล้วไม่ได้เค้าจะหยุดความเลวร้ายเอง)

หากเราดูแลจิตใจตัวเองได้ทั้งสองด้านได้ดังนี้ เชื่อแน่ว่าชีวิตของเราและประเทศชาติของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุขเสมือนว่าพระองค์ท่านไม่ได้จากเราไปไหน

เพราะความคิดของพระองค์อยู่ในความคิดของเรา และพระองค์ก็อยู่ในใจของเรา

เมื่อพระองค์ท่านมองลงมาเมื่อไรก็ยังจะทรงยิ้มด้วยความความภูมิใจในตัวเราเสมอ

หมอเอิ้น พิยะดา 
จิตแพทย์ / นักบริหารใจในวิถีพอเพียง