fbpx

“อยากให้คนมีลมหายใจได้อ่าน”

หมอเอิ้นหายตัวไปไหน?
ทำไมของด Live ไปเป็นเดือน?
มีเรื่องราวอะไรที่จะเป็นประโยชน์เก็บมาฝากพวกเรามั้ย?
พบคำตอบเหล่านี้ได้ในซีรี่ย์ ” #อยากให้คนมีลมหายใจได้อ่าน “
ทุก 1 ทุ่ม
เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า “ฉันจะตายเมื่อไร?” “ฉันจะเตรียมตัวตายอย่างไร?”
หมอไม่เคยถามตัวเองว่าจะตายเมื่อไร แต่เป็นคนที่เตรียมตัวตายเสมอ
อาจจะเพราะด้วยวิชาชีพแพทย์ที่เราอยู่กับความเป็นความตายของคนไข้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เรามีความคิดเรื่องนี้ติดตัวไปโดยปริยาย
——————————
วิธีการเตรียมตัวของหมอคือ
1. ทำดีกับตัวเองและคนอื่นทุกวันอย่างน้อยวันละ1 อย่าง
2. วางแผนการเงินและประกันให้คนที่มีชีวิตอยู่ไม่เดือดร้อน
3. ไว้วางใจในคนรอบข้างว่าเค้าจะปรับตัวได้หากไม่มีเรา
——————————
เรียกได้ว่าทำทุกวันหมือนเป็นวันสุดท้าย
แต่แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเราเตรียมตัวมาดีแค่ไหน
เมื่อถึงสถานการณ์จริงมันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
เล่ามาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่ามันมีเหตุการณ์ที่มาพิสูจน์ความ ‘ไม่ง่าย’ นี้ และเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันนี้เองด้วย
เกิดอะไรขึ้น? แล้วหมอได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์ที่มีความตายนั่งอยู่ข้างๆ
วันนี้อยากเขียนเล่าให้ทุกคนฟัง
——————————
เรื่องเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 64 วันนั้นหมอนัดกับชาวคณะเพื่อไปเล่น Surfboard ที่สันเขื่อนเหมือนที่เคย หลังปิดร้านกาแฟ หมอออกจากร้านทางด้านหลัง เห็นคุณพงศ์ (สามี) กำลังเช็ดทำความสะอาดบอร์ดเก่าและบอร์ดใหม่อีกหลายอันที่เพิ่งมาส่ง
——————————
ทันทีที่เห็นบอร์ด ด้วยความขาดสติเราก็เดินไปคว้าบอร์ดมาเล่นทันที ทั้งที่ตัวหมอยังมีกระเป๋า ทั้งที่ยังไม่ได้ใส่เซฟตี้ ทั้งที่พื้นเต็มไปด้วยลูกของต้นหูกระจง (มาถึงตอนนี้หลายคนอาจรู้สึกสมน้ำหน้า เพราะเขียนๆ ไปหมอรู้สึกอย่างนั้นกับตัวเองเหมือนกัน) จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดมันยิ่งกว่าคำว่าประมาท
จึงขอใช้คำว่า “ขาดสติ” เลยดีกว่า
——————————
ภาพหลังจากนั้น เพียงไม่กี่วินาทีของการออกไถเซิร์ฟบอร์ด หมอก็ลงไปกองกับพื้นในท่าหงายหลังและแรงเหวี่ยงที่รุนแรง
เพราะบอร์ดหยุดนิ่งจากการที่ล้อติดกับลูกหูกระจง
แรงสั่นสะเทือนของกะโหลกศรีษะที่กระทบกับพื้นคอนกรีต
ทำให้กล้ามเนื้อลำคอและลำตัวแข็งเกร็งกระเด้งขึ้นมาจากพื้นอย่างรวดเร็ว วินาทีนั้นรู้ตัวเลยว่า “ซวยแล้ว!” แต่ก็ยังหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่ว่า “ไม่น่าจะเป็นอะไร
เพราะไม่ได้หมดสติ ขนาดนักมวยโดนต่อย คนถูกทำร้ายหมดสติหลายคน เขาก็ยังไม่เป็นอะไรเลยนี่นา” หมอจึงปฐมพยาบาลตัวเองด้วยการประคบน้ำแข็งที่ศรีษะและคอเท่านั้น แล้วยังเดินทางไปเจอเพื่อนๆ ตามที่นัดหมาย (ประมาทครั้งที่2)
——————————
1 ชั่วโมงในการนั่งประคบน้ำแข็ง หมอนั่งมองเพื่อนๆ ที่ยังสนุกสนานกัน
ก็เกิดความไม่สบายใจว่า “ทำไมไม่หายมึนสักทีวะ”
ก่อนกลับบ้าน หมอเลยตัดสินใจไป เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ที่โรงพยาบาลเลย โดยคิดว่าเอาไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้นเพราะยังพยายามเข้าข้างตัวเองว่าน่าจะไม่เป็นอะไร
ผลการเอ็กซ์เรย์ผิดจากที่คาดอีกครั้ง เพราะผลออกมามีเลือดออกที่สมองส่วนหน้าและสมองบวมบริเวณด้านหลังที่ชนพื้น
น้องๆหมอ รวมถึงตัวเราก็ยังคิดว่าน่าจะเป็นการอ่านผลผิดพลาดหรือป่าว เพราะอาการแค่มึนหัวเท่านั้นเอง
และยังคงคิดว่าน่าจะกลับบ้านไปสังเกตอาการได้ (ประมาทครั้งที่ 3)
และเนื่องจากที่จังหวัดเลยไม่มีหมอด้านศัลยกรรมสมอง
เราจึงต้องโทรปรึกษาที่โรงพยาบาลอุดร
——————————
ในขณะที่รอการปรึกษา อาการของหมอก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การเคลื่อนไหวเริ่มช้า รับรู้ช้า ต้องใช้ความพยายามในการครองสติ
การมองเห็นเริ่มเปลี่ยนแปลง (อาการทั้งหมดไม่มีใครดูออกเลยยกเว้นตัวเองที่สังเกตตัวเองอยู่) ตอนนั้นแน่ใจแล้วว่า ”งานเข้าแล้วกู”
ไม่นานน้องๆ หมอก็เข้ามาเพื่อเจาะเลือดและเริ่มการให้ยาขนานใหญ่ตามคำสั่งของแพทย์ที่อุดร และนี้คือจุดเริ่มต้นการเดินทางอันยาวไกลในการเป็นผู้ป่วยเลือดออกในสมองของหมอเอง
——————————
– การขาดสติเพียงพริบตาก็ทำให้ชีวิตเราพังทลายได้
– ไม่ควรหาเหตุผลเพียงเพื่อให้ตัวเองสบายใจในเวลาที่ปัญหานั้นอยู่ตรงหน้า
– การรู้จักสังเกตตัวเองและสื่อสารจะช่วยให้เราพ้นความอันตราย
เพราะไม่มีใครมองเห็นความผิดปกติได้ดีเท่าตัวเรา
นี่เรื่องราวแค่เริ่มต้นนะ…พร้อมเดินทางออกไปเรียนรู้วันแรกกันไหม?
ตอนต่อไปมาฟังประสบการณ์เมื่อหมอต้องกลายเป็นคนไข้นอนหอผู้ป่วยวิกฤตครั้งแรกในชีวิตกัน
พบกับ ซี่รี่ย์ #อยากให้คนมีลมหายใจได้อ่าน ตอนต่อไปพรุ่งนี้ 1 ทุ่มตรง

ซีรี่ย์ “อยากให้คนมีลมหายใจได้อ่าน
ต่อจากตอนที่แล้ว
เมื่อหมอศัลยกรรมสมองที่โรงพยาบาลอุดรได้รับข้อมูลและเห็นผลการเอ็กซ์เรย์ ว่าเป็น SDH (Subdural hematoma คือ สภาวะที่มีเลือดออกในสมองบริเวณระหว่างเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง)
โดยทั่วไปจะเกิดได้ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับความกระทบกระเทือน
หรือบางคนอาจเกิดใน 1- 2 อาทิตย์หลังประสบอุบัติเหตุได้
ความอันตรายคือถ้าเลือดออกมาจนกดเนื้อสมองและการหายใจ
ก็จะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ซึ่งช่วงเวลาที่เลือดไหลในสมองเราอาจจะมีอาการมึน งง บางคนแขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน
ซึ่งของหมอเองมีแค่อาการมึนและการรับรู้ช้าเป็นช่วงๆ ในวันแรกเท่านั้น ทำให้คิดเองว่าไม่น่าเป็นไร
แต่สุดท้ายคืนนี้ถูกส่งตัวไปนอนที่ ICU(intensive care unit) หรือหอผู้ป่วยวิกฤต พร้อมทั้งถูกสั่งให้งดน้ำและอาหารทันที 24 ชั่วโมง
เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินหากจะต้องผ่าตัด
และเริ่มการให้ยาระงับการไหลของเลือด (Transamin)
และยาลดการบวมของสมอง (Mannitol) ในขนาดสูงสุด
——————————
ตอนนั้นรู้สึกว่า “นี่เราถูกรักษาโอเวอร์ไปหรือป่าวนะ” แค่มึนเท่านั้นเอง
จากที่คิดว่าจะกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านแล้วเดี๋ยวก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
กลายเป็นต้องนอนที่หอผู้ป่วยวิกฤตทั้งที่ยังรู้สึกตัว เพราะต้องเฝ้าระวังภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
ต้องบอกว่าเพื่อร่วมหอผู้ป่วยทุกคนล้วนวิกฤตมาก
คือ เจาะคอ ใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่รู้สึกตัวกันทั้งสิ้น ที่เด็ดคือ หมอได้นอนเตียงเดียวกันกับน้าเขยตัวเองที่เพิ่งเสียชีวิตไป แถมคุณยายที่เป็นคนไข้เตียงข้างๆ ก็เพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้ว กำลังรอญาติและห้องเก็บศพมารับตัว
หมอเลยนอนเป็นเพื่อนยายทั้งคืนถึงตีสาม
เตียงด้านหน้าตัดขาเจาะคอ เตียงด้านหลังเลือดไหลออกจากกระเพาะเป็นลิตรและเกือบต้องปั้มหัวใจ
12 ชั่วโมงในการอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและเสียงเครื่องตรวจจับสัญญาณชีพ
ในสภาพคนไข้ที่ยังมีสติสัมปชัญญะนั้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่หมอก็ไม่ได้รู้สึกทรมานมากนักแม้จะไม่ได้นอนเลย
เพราะถือโอกาสนี้ฝึกการรู้สึกตัวและฝึกการหายใจไปพร้อมกัน
คืนนั้นแม้จะอยู่ท่ามกลางความทุกข์ทั้งความเจ็บและความตาย
แต่ก็ผ่านมาได้
——————————
– ถ้าเราฝึกการมองเห็นความทุกข์และไม่หลงลืมลมหายใจของตัวเอง
เราจะไม่จมกับความทุกข์
– คนอายุมากรู้สึกเวลาชีวิตเหลือน้อย
แท้จริงอาจเหลือมาก
คนที่อายุน้อยรู้สึกเวลาชีวิตเหลือมาก
แท้จริงอาจเหลือน้อย
– ต้องฟังคนไข้ให้มากและอย่าเชื่อทฤษฏีจนเกินไป (ตอนที่ได้รับยาเกิดผลข้างเคียงมากมาย ถ้าหากเราไม่ฟังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเชื่อแต่ตำราว่าไม่มีอาการนี้
อาจทำให้คนไข้เป็นอันตรายจากยาได้)
– ภูมิใจในเพื่อนบุคคลาการทางการแพทย์ที่เสียสละทำงานอย่างกระตือรือล้นท่ามกลางวิกฤต
– พักผ่อนด้วยการนอนหลับไม่สำคัญเท่าการพักด้วยการมีสติอยู่ปัจจุบัน
*และแล้วยามเช้าก็มาถึง …ถึงเวลาส่งตัว (หมอที่กลายเป็นคนไข้) เข้าห้องพิเศษเสียที
เกิดอะไรขึ้นบ้างพบกันพรุ่งนี้ 1 ทุ่ม
ป.ล.ตอนนี้หายดี 70% แล้วนะคะ ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงนะคะ ไม่เจตนาให้ตื่นเต้น แต่เจตนาให้เราตั้งอยู่บนความไม่ประมาท #เจ็บจนเข้าใจ 55

ประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยเลือดออกในสมองของหมอเอิ้น ( ตอนนี้หายเกือบ 100%) แล้วนะคะ
ต่อจากตอนที่แล้ว https://bit.ly/3he1sfT
เช้านี้หมอถูกย้ายออกมาอยู่ห้องพิเศษเพื่อสังเกตอาการต่อท่ามกลางความไม่สบายใจของเพื่อนหมอและพยาบาล (เพราะไม่มีหมอเฉพาะทางศัลยกรรมสมอง)
แต่ถ้าอยู่ห้อง ICU ต่อ อาการก็อาจจะทรุดลงจากการไม่ได้พักผ่อนได้ โชคดีที่มีห้องพิเศษว่างในช่วงเช้าจึงตัดสินใจย้ายออกมาอยู่ห้องพิเศษแม้ยังไม่ครบ 24 ชั่วโมงโดยญาติต้องทำความเข้าใจและยอมรับในความเสี่ยง และอยู่เฝ้าตลอดเวลา
เช้านี้รู้สึกอ่อนเพลียมากจากการไม่ได้นอน อดน้ำและอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง ปัสสาวะมากจากผลข้างเคียงของยาลดสมองบวม
การให้น้ำเกลือก็เป็นสูตรที่ไม่มีน้ำตาล เดาได้ไม่ยากว่าน้ำตาลในเลือดจะต่ำ
ซึ่งเจาะน้ำตาลได้แค่ 80 เท่านั้น จากระดับปกติ 120 – 160 mg/dl (hypoglycemia คือภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ปกติจะวินิจฉัยที่ระดับน้ำตาลต่ำกว่า 50 mg/dl ภาวะนี้ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เวียนศรีษะ ตาพร่าและสับสนได้ ทั้งนี้ขึ้นกับระบบประสาทของผู้ป่วยได้ )
ตอนนี้เดาได้ยากว่า ความอ่อนเพลียและสับสนที่เข้ามาถาโถมในวันนี้เกิดจากอะไรกันแน่
——————————
มาถึงตอนนี้รู้เลยว่าตัวเองอาจมีโอกาสที่จะขาดสติได้ง่าย และสามารถเกิดอาการแทรกซ้อนที่จะทำให้เสียชีวิตได้ตลอดเวลา
ที่สำคัญคือหากอาการทรุดถึงขั้นแย่สุดจริงๆ คือเลือดออกในสมองเพิ่มจนต้องผ่าตัดเพื่อเอาเลือดออก
ที่จังหวัดเลยก็ไม่มีหมอเฉพาะทางที่จะรักษาได้
แม้ว่าไม่ได้อยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤตแต่ตอนนี้ชีวิตเริ่มวิกฤต
วินาทีนี้ถือเป็นวินาทีสำคัญที่ยังคิด ตัดสินใจและสื่อสารได้
หมอเลยตัดสินใจส่งข้อความเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือไปยังพี่หมอหนึ่ง (พี่ชายที่น่ารักที่ รพ. ศรีนครินทร์) เพื่อเป็นสติแทนตัวหมอในการตัดสินใจ
และสุดท้ายจึงต้องส่งตัวตามระบบการส่งต่อ
เพื่อไปอยู่ใน รพ ที่สามารถผ่าตัดได้ทันทีหากมีเหตุฉุกเฉิน
อาการที่ขึ้นๆ ลงๆ อย่างรวดเร็วเกินจะคาดการและการควบคุม
ทำให้รู้สึกว่าเหมือนความตายมานั่งอยู่ข้างๆ พร้อมกับทีมพยาบาล สามีและเพื่อนที่คอยให้กำลังใจอยากช่วยแต่ช่วยไม่ได้
——————————
ช่วงเวลาสับสนจนเกือบจะขาดสติ ภาพของคนที่เราห่วงใยก็ปรากฏขึ้น หมอขอเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ #ช่วงเวลาอาวรณ์
เราไม่มีอะไรที่ติดค้างหากจะต้องจากไป แต่สายใยของความรักและความปรารถนาดีกลับชัดเจน แล้วน้ำตาก็ค่อยๆ ไหลออกมา
ไม่ใช่เพราะกลัวที่จะต้องตายแต่เพราะตื้นตันในใจกับความรักและความผูกพันธ์ที่เรามี
——————————
หลังการตัดสินใจย้ายตัวเองไปรักษาตัวต่อที่ขอนแก่น พี่ๆ และทีมงานทุกคนก็ประสานงานกันอย่างแข็งขัน จนกระทั้งได้ออกเดินทาง
ด้วยรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลเลย นี่ก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการนั่งรถฉุกเฉินในฐานะผู้ป่วย จากที่เคยทำหน้าที่ส่งตัวผู้ป่วยมาตลอดชีวิต
3 ชั่วโมงบนรถก็ทรหดไม่น้อย เพราะแรงสั่นสะเทือนจากถนนที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง น้องๆ พยาบาลที่ไปส่งก็น่ารักมาก
คอยประคองน้ำเกลือไม่ให้แกว่งไกวหรือหล่นใส่หัวเรา ความทรมานในการนั่งรถครั้งนี้ถูกบรรเทาด้วย
ความรู้สึกขอบคุณที่หมอมีให้น้องพยาบาล ที่พยายามดูแลเราอย่างสุดความสามารถ
และเสียงเพลงที่สอดคล้องกับลมหายใจและการแกว่งไกวของรถ
——————————
จนในที่สุด เราก็เดินทางถึงโรงพยาบาลศรีนครินทร์จังหวัดขอนแก่น พี่หมอหนึ่งน่ารักมาก
มารอรับตั้งแต่หน้าห้องฉุกเฉิน ประสานทีมศัลยกรรมประสาท พาไปเอ็กซเรย์สมองอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเลือดในสมองจะไม่ออกเพิ่ม
ตอนนี้อดน้ำและอาหารเข้าชั่วโมงที่ 30 น้ำตาลในเลือดเหลือแค่ 70 mg/dl เริ่มไม่มีแรงแม้แต่จะลืมตา
โชคดีที่ผลการตตรวจซ้ำไม่มีเลือดออกในสมองเพิ่มแต่ยังมีสมองบวมอยู่เล็กน้อย แม้ว่าจะได้ยาลดสมองบวมมาอย่างเต็มเหนี่ยวแล้วก็ตาม
มาถึงตอนนี้ก็แน่ใจได้แล้วว่าคงไม่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแน่นนอน (เป็นสัญญาณว่าเราเริ่มทานอาหารได้)
สิ่งแรกที่ขอคือขอทานน้ำหวาน พี่หนึ่งก็รีบวิ่งไปซื้อน้ำและแซนวิชมาให้สามีป้อนที่ข้างเตียง แค่น้ำส้มดูดแรกก็อุทานในใจเลยว่า “รอดแล้วเรา”
คืนนี้ที่พักคือหอผู้ป่วยอุบัติเหตุ คืนนี้สามีก็ต้องไปหาที่นอนเองเพราะเราต้องอยู่ใกล้ชิดกับน้องๆ พยาบาล และต้องทำทุกอย่างบนเตียง
นี้ก็เป็นอีกประสบบการณ์ที่ต้องมีคนมาเปลี่ยนเสื้อผ้าเช็ดตัวและทำทุกอย่างให้ เพราะขยับตัวไม่ได้ เพราะร่างกายเริ่มส่งสัญญาณความปวด
แต่คืนนี้หมอก็ยังนอนหลับสนิทและฝันดีได้ แม้ว่ายังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ต้องเจออะไร
– อย่าประมาทกับความสมอง สมองเป็นอวัยวะอันเปราะบางที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะทุกส่วนรวมถึงการผลิต อารมณ์ ความคิด และการตัดสินใจของเรา
เมื่อสมองถูกกระทบกระเทือน ลักษณะสำคัญที่ต้องระวังคือ การมองเห็นความผิดปกติได้ไม่ชัดเจน อาการแปรปวนขึ้นลงได้ตลอดเวลา
เดี๋ยวดีเดี๋ยวมีอาการ เมื่อมีความสับสนก็ไม่สามารถสื่อสารความผิดปกติได้
– มิตรแท้ คือคนที่มีเมตตาต่อเราอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ทำให้เรารู้สึกเดียวดายและมิตรแท้ยังมีอยู่จริงบทโลกใบนี้ (ขอบคุณพี่หมอหนึ่ง พี่โบ พี่อี๊ต ตุ๊กตามากๆ)
– การได้สามีที่ดีสำคัญกว่าการถูกรางวัลที่ 1 (มีกำลังใจอยากรีบหายเพราะสงสารสามีที่อยู่ข้างกายไม่เคยห่าง)
– ดีแล้วที่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะจากโลกนี้ได้ทุกวัน เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้และเวลาจะจากโลกนี้ไปเราไม่ได้ทำใจง่ายดายนัก
ติดตามตอนที่4 #ความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ พรุ่งนี้ 1 ทุ่ม

ประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยเลือดออกในสมองของหมอเอิ้น (ตอนนี้หายเกือบ 100%) แล้วนะคะ
ต่อจากตอนที่แล้ว
(ใครพลาดอ่านย้อนหลังในลิ้งค์ https://bit.ly/2Ua8PwY )
สองวันที่ผ่านมาอาการหลักคือการมึนงง สับสน
จำเรื่องราวระยะสั้นไม่ได้รับข้อมูลได้น้อย
ไวต่อแสง อ่อนเพลีย แต่ความเจ็บปวดในร่างกายยังไม่ชัดเจนนัก
( ทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Post – concussion syndrome เป็นภาวะอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้หลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งอาการจะคงอยู่ได้นานเป็นเดือน แต่ส่วนมากจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปภายใน 2 อาทิตย์ถึง 1 เดือน แต่มีประมาณ 20% ที่ใช้เวลาเป็นปี)
เช้านี้ตื่นขึ้นมาในหอผู้ป่วยอุบัติเหตุ
คำถามแรกที่น้องพยาบาลถามตอนมาเช็ดตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าให้คือ “หมอนอนหลับมั้ย ฝันเห็นอะไรรึป่าว”
แล้วทำหน้าเหมือนกลัวอะไรสักอย่าง ในใจเลยก็คิดว่า “ห้องนี้น่าจะประวัติไม่เบาทีเดียว” แล้วยิ้มอ่อนให้น้องก่อนจะบอกว่านอนหลับฝันดีมากๆ เสียแต่ยังไม่ได้เลขเด็ด55
——————————
รู้สึกสบายกายสบายใจได้ไม่ทันถึงชั่วโมง
อาการความปวดก็เริ่มมาเยือน เริ่มจากปวดคอ ลามมาที่ทั้งศรีษะและกระบอกตา ราวกับมีอะไรมารัดไว้แน่น ถ้าถามว่าปวดนี้ให้กี่คะแนน ตอบได้เลยว่า 8-9 คะแนน
(การประเมินความปวดที่แพทย์จะใช้ในการประเมินระดับความรุนแรงและพิจารณาการให้ยาเราเรียกว่า Pain Score แบ่งออกเป็นคะแนน 0 คือ ไม่มีความเจ็บปวดแต่ไม่สบายตัว
คะแนน 1-2 มีความเจ็บปวดเล็กน้อย
คะแนน 3-6 ความเจ็บปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง
คะแนน 7-10 ความเจ็บปวดปานกลางถึงรุนแรง )
——————————
จากระดับความปวดที่เกิดขึ้น การรักษาที่ได้รับจึงต้องบรรเทาด้วยการฉีดมอร์ฟีน ทุก 6 ชั่วโมง
ควบคู่กับการทานยาลดการอักเสบ
แม้จะฉีดมอร์ฟีนความปวดก็ลดลงจากมาก มาเป็นปานกลางเท่านั้น
ความปวดในส่วนที่เหลือหมอพาตัวเองผ่านพ้นมาไ้ด้ด้วยการใช้ลมหายใจและดนตรีบำบัด
เมื่อผ่าน 24 ชั่วโมงนี้ไปทุกอย่างก็ค่อยๆดีขึ้น
– การได้ยาแก้ปวดไม่ได้แปลว่าต้องหายปวด
การได้มอร์ฟีนในการแก้ปวดถือว่าเป็นยาที่ออกฤทธิ์กับการปวดมากที่สุดแล้ว การที่ยังมีอาการปวดหลงเหลือ นั่นคือส่วนที่เราต้องดูแลความปวดด้วยตัวเราเอง ไม่ใช่การใช้ยาอย่างถาโถม
– เสียงเพลงและลมหายใจยังเป็นเพื่อนเราให้อยู่กับความปวดได้อย่างไม่ทรมาน
– เมื่อถึงเวลาหยุดพัก คือ ต้องพัก
ความเจ็บปวดเป็นสัญญานนึงของชีวิตที่เราต้องรับฟัง
หนักกันมาหลายวัน
พรุ่งนี้เรามาติดตามตอน #ได้เวลาฟื้นตัว กันนะคะ
ใกล้ถึงตอนจบแล้ว

ต่อจากตอนที่แล้ว (ใครพลาดอ่านย้อนหลังได้ตามลิ้งค์นะคะ https://bit.ly/3du654i )
ผ่านวันเวลาหฤหรรษ์สามวันมาได้ วันที่สี่หมอก็เริ่มเบาสบายกว่าทุกวัน
แม้ว่ายังรู้สึกจำข้อมูลใหม่ๆ ได้ยาก มีช่วงงง
และสับสนบ้างช่วงพลบค่ำ
และปวดบริเวณต้นคอแต่ก็ไม่ต้องได้รับมอร์ฟีนเช่นเคย
วันนี้พอมั่นใจได้แล้วว่าคงไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้นอีก แต่เพื่อความไม่ประมาทหมอยังคงต้องได้รับยาป้องกันการชักให้ครบ 1 อาทิตย์
และอยู่ใกล้ชิดแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทอยู่
——————————
วันนี้หมอจึงตัดสินใจขอไปพักฟื้นที่ รพ. ราชพฤกษ์ โรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ไกลจาก รพ ศรีนคริทร์นัก
เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่วิกฤตกว่าได้มาอยู่ใกล้ๆการรักษาอย่างทันท่วงทีบ้าง
เพราะตอนนี้แนวทางการรัษาจะปรับไปเป็นแบบประคับประคอง (supportive treatment )
คือมีอาการอะไรก็แก้ตามนั้น ยกเว้นอาการมึนงงเป็นช่วงๆที่อาจต้องใช้เวลา เฝ้าระวังการชัก
และการให้ยาป้องกันการชักให้ครบ 5 วัน
——————————
ที่ รพ ราชพฤกษ์ ที่ที่เปลี่ยนมุมมองของคำว่าโรงพยาบาล “ถ้าเอ่ยคำว่าโรงพยาบาลคุณคิดถึงอะไร?”
กลิ่นนำยาฆ่าเชื้อ คนเยอะ การรอคอย ความป่วย หมอดุ หรือ อื่นๆอีกมากมาย
แต่สำหรับหมอ หมอคิดถึงอาหารคนไข้ ซึ่งลักษณะสำคัญคือจืดไว้ก่อน แต่การบริการที่ราชพฤกษ์ทำให้รู้สึกว่า “อย่างงี้ก็ได้เหรอวะ”
คือชีวิตปลอดภัยเหมือนโรงพยาบาล แต่สบายกายใจผ่อนคลายยิ่งกว่าโรงแรม ( อวยไส้แตกแบบนี้เพราะหมอเป็นเจ้าของโรงแรมเอง มาอยู่ที่นี่ยังอาย)
——————————
เพราะทุกสิ่งที่นี้ ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างอย่างมีความหมาย
ตั้งแต่ประตูห้องและห้องน้ำที่กว้างกว่าปกติเพื่อให้เข็นเตียงเข้าได้ พื้นไม้ ที่นอนผู้ป่วย ที่นอนของญาติ
การตกแต่งที่เหมือนถูกสภาพแวดล้อมบำบัด การบริการที่ใส่ใจ รวดเร็ว เข้าถึงง่าย อาหารที่สั่งได้ทุกสัญชาติที่สำคัญอร่อยจนคิดว่า
ถ้าออกจากโรงพยาบาลแล้วจะได้ทานแบบนี้อีกมั้ย (อ่านถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกหมั่นไส้ และอยากรู้ว่าหมอได้ค่ารีวิวเท่าไรใช่มั้ย๕๕) ไม่ได้สักบาท
แค่รู้สึกว่าอยากเล่าถึงความประทับใจที่คิดว่ามีส่วนสำคัญให้ตัวหมอมีอาการดีขึ้นได้เร็ว
——————————
เราแอบถามแนวคิดและเคล็ดไม่ลับของผู้บริหารโรงพยาบาลนี้มาคร่าวๆว่า
ท่านใช้เรื่องการฟังมาเป็นเครื่องมือในการบริหาร เป้าหมายในการทำงานของโรงพยาบาลคือ “ดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”
นอกจากการทำงานของทีมทั้งหมดที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆแล้ว โรงพยาบาลยังมีตุ๊กตามามอบให้เราสองตัวเป็นกำลังใจ คือ พี่ใจดี กับน้องห่วงใย
ทั้งหมดนี้เกิดมาจากการออกความเห็นของพนักงานทุกคน แล้วคนที่เป็นเจ้าของไอเดีย พี่ใจดี กับน้องห่วงใย คือคุณแม่บ้านของโรงพยาบาลนั้นเอง
(เอาไว้ถ้ามีโอกาสเราจะกลับมาถอดรหัสเรื่องนี้อีกคร้ัง)
——————————
ความจริงหมอยังคงต้องอยู่ โรงพยาบาลจนครบ 7 วันเพื่อดูอาการให้แน่ใจและได้รับยาจนครบกำหนด แต่อาจจะเขียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไว้เพียงเท่านี้
วันนี้เบาๆ ติดตามพรุ่งนี้ตอนจบ #4คำถามล้ำค่าที่พาเราไปพบคุณค่าของชีวิต มาพบคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ไปพร้อมกันนะคะ

 

ตอนจบมาแล้วววววววว!
สิ่งที่หมอเองได้เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้ถือว่าล้ำค่ามาก (ครั้งเดียวพอละ๕๕)
พวกเราไม่จำเป็นต้องมามีประสบการณ์นี้ด้วยตัวเองนะคะ
1. เรารู้มั้ยว่าใครคือคนที่เรารัก และคนที่รักเรา?
(ถ้ารู้อย่าลืมมอบความรัก และเมตตาให้เค้าทุกลมหายใจ )
2. อะไรบ้างที่เราพอจะทำประโยชน์ให้ตัวเองและคนอื่นได้? (ถ้ารู้ก็ไม่ต้องรอที่จะลงมือทำ)
3. ถ้าตายเราอยากเอาอะไรไปบ้าง?
( ถ้าอยากเอาความรัก ก็จงมอบความรักกับคนที่รักเรา
ถ้าอยากเอาความสำเร็จ ก็จงให้โอกาสคนอื่นได้ทำเรื่องดีๆให้สำเร็จ
ถ้าอยากเอาปัญญา ก็จงมอบความรู้กับคนไม่รู้
ถ้าอยากเอาเงินทอง ก็จงออมและแบ่งปันให้เงินนั้นเกิดประโยชน์)
เพราะสุดท้ายเราไม่สามารถเอาอะไรไปได้เลยแต่เราทิ้งสิ่งดีๆไว้ให้โลกใบนี้ได้
4. ถ้าเราต้องจากโลกนี้ไปจริงๆ ในวันชาปนกิจเราอยากให้คนอ่านคำอาลัยว่าอย่างไร?
สำคัญยิ่งกว่าการออกแบบชีวิต คือการออกแบบคำกล่าวไว้อาลัยในวันเผา
ความจริงเราจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าในช่วงชีวิตที่เรามีลมหายใจ
เราได้มอบคุณค่าอะไรไว้กับโลกใบนี้บ้าง
แด่ความตายที่เคยมานั่งข้างๆ
และลมหายใจที่ยังอยู่เป็นเพื่อนกันต่อไป
หมอเอิ้น พิยะดา