ในทุกวันพฤหัสบดี ที่โรงพยาบาลจิตเวชจะเป็นวันคลินิกผู้สูงอายุ
อาการสำคัญอย่างหนึ่งที่ลูกหลานมักพาผู้สูงอายุมาพบคือ พ่อแม่มีบุคคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น เดิมเป็นคนใจดี ใจเย็น ก็กลายเป็นคนใจร้อน หงุดหงิดง่าย เดิมเป็นคนร่าเริง ก็กลายเป็นคนซึมเศร้า ขี้น้อยใจ เดิมเป็นคนพูดน้อย ก็กลายเป็นคนขี้บ่น และตัดสินใจมาพบแพทย์ เพราะพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นเริ่มทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว
เมื่อถามว่า ‘ความจำ’ เป็นอย่างไร มักได้คำตอบว่า จำได้น้อยลง เป็นมากบ้าง น้อยบ้าง
อ่านมาถึงตรงนี้มีใครคิดถึงโรคสมองเสื่อมบ้างคะ
ถ้าคิดก็ไม่แปลก ถ้าไม่คิดก็ไม่แปลกเช่นกัน ปกติเวลาที่เราพูดถึงโรคสมองเสื่อม เรามักจะคิดถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เพราะเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังหรือซีรีส์มากมาย ซึ่งนางเอกมักจะจำพระเอกกับเรื่องราวในอดีตไม่ได้ จนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า อัลไซเมอร์เท่ากับสมองเสื่อม สมองเสื่อมเท่ากับความจำเสื่อม
แท้จริงแล้วหากเปรียบโรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นจักรวาล โรคอัลไซเมอร์ก็เป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง อาการความจำเสื่อมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์เท่านั้น เพราะนอกจากอาการความจำเสื่อม ยังต้องมีอาการสำคัญอื่นร่วมด้วย
แล้วอะไรที่เป็นอาการบ่งบอกว่านี่คือโรคสมองเสื่อม (Dementia) นอกเหนือจากเรื่องความจำ อาการก็คือ
- Aphasia คือสูญเสียการบอกชื่อหรือคำพูด ทั้งที่เคยพูดได้ปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาว่านึกคำที่จะพูดไม่ออก พูดผิดพูดถูก
- Apraxia คือสูญเสียการลงมือกระทำหัตถกรรมต่างๆ ทั้งที่เคยทำได้ปกติ เช่น เคยชอบทำอาหาร หรือทำอาหารได้ แต่ตอนนี้ทำอาหารไม่เป็น เคยใช้โทรศัพท์เป็น ก็เริ่มใช้ไม่เป็น
- Agnosia คือสูญเสียความสามารถในการระบุสิ่งของ แม้ว่าประสาทสัมผัสปกติ เช่น ให้ถือกุญแจไว้ กลับเข้าใจว่าถืออย่างอื่นอยู่
- สูญเสียความสามารถในการคิดตัดสินใจ วางแผน หรือมองเรื่องนามธรรม
นอกจากการบกพร่องเรื่องความจำแล้ว สำหรับผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อมจะต้องมีอาการอย่างน้อย 1 ข้อจาก 4 ข้อที่กล่าวมา
และแน่นอนว่า ความบกพร่องนี้มันทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงการสูญเสียสมรรถภาพในตัวเอง จนลามไปเป็นในเรื่องของอารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปได้
ดังนั้น จึงบอกได้ว่าการเป็นโรคสมองเสื่อมนั้นรุนแรง และมีอาการซับซ้อนมากกว่าความจำเสื่อม การที่เรามีปัญหาแค่เรื่องความจำจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมองเสื่อมเสมอไป
ข่าวดีคือ สมองเสื่อมจากบางสาเหตุรักษาได้ เช่น จากฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือจากโรคซึมเศร้า (Dementia syndrome of major depression)
ข่าวร้ายคือ มีอีกหลายสาเหตุเช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ยังไม่สามารถรักษาได้ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอาการ
สิ่งที่ดีที่สุด คือการป้องกันความเสื่อมของสมองก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
Page : https://web.facebook.com/earnpiyada/
Youtube : https://bit.ly/2Ul9Pc5